แม้ในช่วงแรกๆ นักดาราศาสตร์มุสลิมจะสนใจดาราศาสตร์ของอินเดีย แต่ดาราศาสตร์ของกรีกก็เริ่มเข้ามา นักวิชาการประจำหอสมุดบัยตุลฮิกมะห์แห่งแบกแดดมีบทบาทสำคัญในกรณีนี้ แนวคิดในการอธิบายจักรวาลของอินเดียและกรีกนั้นต่างกัน นักดาราศาสตร์อินเดียเชื่อว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ขณะที่กรีกเชื่อว่าดวงอาทิตย์และเทห์วัตถุอื่นๆบนท้องฟ้าโคจรรอบโลก นักดาราศาสตร์มุสลิมได้ศึกษาและวิพากษ์แนวคิดทั้งสองโดยอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยการสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่สุดแล้ว แม้นักดาราศาสตร์มุสลิมส่วนใหญ่จะโน้มเอียงเห็นด้วยกับแนวคิดของกรีก แต่ก็อาศัยคณิตศาสตร์ที่พัฒนามาจากคณิตศาสตร์ของอินเดียเพื่ออธิบาย
ตำราที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของนักดาราศาสตร์มุสลิมมากที่สุดคือ อัลมาเจสต์ ( almagest, المجسطي ) ของคลอดิอุส ทอเลมี (Claudius Ptolemy ชาวกรีก แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอียิปต์ มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 90 – 168) เป็นชุดประมวลความรู้คณิตศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ มีจำนวนทั้งหมด 13 เล่ม ถึงแม้จะไม่ใช่ผลงานของทอเลมีทั้งหมด แต่เขาได้รวบรวมและเรียบเรียงความรู้ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด และมีระเบียบเป็นลำดับขั้นตอน สะดวกต่อการค้นคว้าและเข้าใจง่าย รวบรวมความรู้ด้านดาราศาสตร์ในยุคนั้น โดยเฉพาะผลงานของฮิพพาคัส (Hipparchus : นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวกรีก มีชีวิตอยู่ในช่วง ปี 170 – 125 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดในการพัฒนาผลงานต่างๆ ของทอเลมี
จากแนวคิดของอาริสโตเติลที่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยมีดาวเคราะห์และดวงดาวต่างๆ โคจรรอบโลกเป็นวงกลมสมบูรณ์นั้น ยังไม่สามารถทำนายตำแหน่งการโคจรของดาวเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการโคจรถอยหลัง (retrograde motion) ของดาวเคราะห์วงนอก เช่นดาวอังคาร ทำให้ทอเลมีใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการพัฒนาระบบจักรวาล "Ptolemaic System" ที่อธิบายว่า "โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล" (ดูรูปที่ ๑ ประกอบ) โดยให้ดาวเคราะห์เคลื่อนที่บนวงกลมเล็กที่เรียกว่าวงกลมเสริม (epicycle) วงกลมเล็กนี้จะเคลื่อนที่รอบเส้นรอบวงของวงกลมใหญ่ที่เรียกว่าวงกลมหลัก (deferent) อีกทีหนึ่ง เพื่อให้การำนายตำแหน่งดาวเคราะห์มีความแม่นยำยิ่งขึ้น ระนาบวงกลมเสริมอาจมีการวางตัวทำมุมต่างๆกับระนาบวงกลมหลัก และยังใช้วงกลมเสริมซ้อนวงกลมหลักอีก บางกรณี เขาต้องใช้วงกลมเสริมต่างๆหลายวงเพื่อให้ผลการทำนายดาวเคราะห์สอดคล้องกับตำแหน่งปรากฏที่สังเกตได้จริง กระนั้นก็ยังไม่สามารถทำนายตำแหน่งของดาวเคราะห์บนท้องฟ้าได้ถูกต้องตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เขาเสนอจุด equant ขึ้นมา โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรรอบจุดศูนย์กลางของวงกลมเสริม ในขณะที่จุดศูนย์กลางของวงกลมเสริม (epicycle) จะโคจรรอบจุดศูนย์กลางของวงกลมหลัก (deferent) ซึ่งจุดนี้จะเคลื่อนย้ายไปรอบๆจุดที่ปโตเลมีเรียกว่า ศูนย์กลางที่แบ่งเท่าๆ กันของการโคจร (center of the equalizer of motion) ที่ต่อมาถูกเรียกว่า equant จุดนี้ห่างจากศูนย์กลางของทรงกลมใหญ่เท่าๆ กับศูนย์กลางของทรงกลมใหญ่ห่างจากโลก แต่มีตำแหน่งฝั่งตรงข้ามกัน ผลก็คือทรงกลมจะหมุนรอบๆ แกนอย่างสม่ำเสมอผ่าน equant มิได้ผ่านศูนย์กลางของตัวเอง
 
 
รูปที่ 1 สมมุติฐานของทอเลมีนั้นถือว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยดาวเคราะห์จะเคลื่อนที่บนวงกลมเล็กที่เรียกว่าวงกลมเสริม (epicycle) วงกลมเล็กนี้จะเคลื่อนที่รอบเส้นรอบวงของวงกลมใหญ่ที่เรียกว่าวงกลมหลัก (deferent) อีกทีหนึ่ง ดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรรอบจุดศูนย์กลางของวงกลมเสริม ในขณะที่จุดศูนย์กลางของวงกลมเสริม (epicycle) จะโคจรรอบจุดศูนย์กลางของวงกลมหลัก (deferent) ซึ่งจุดนี้จะเคลื่อนย้ายไปรอบๆจุดที่ปโตเลมีเรียกว่า ศูนย์กลางที่แบ่งเท่าๆ กันของการโคจร (center of the equalizer of motion) ที่ต่อมาถูกเรียกว่า equant จุดนี้ห่างจากศูนย์กลางของทรงกลมใหญ่เท่าๆ กับศูนย์กลางของทรงกลมใหญ่ห่างจากโลก แต่มีตำแหน่งฝั่งตรงข้ามกัน ผลก็คือทรงกลมจะหมุนรอบๆ แกนอย่างสม่ำเสมอผ่าน equant มิได้ผ่านศูนย์กลางของตัวเอ
 
นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมสำหรับทอเลมีที่เขาสามารถหยั่งเห็นการเคลื่อนที่อันซับซ้อนอย่างนั้นแล้วนำมาอธิบายปรากฏการที่สังเกตได้อย่างเกือบจะลงตัว สมมุติฐานของเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องยอดเยี่ยมตลอดสมัยยุคกลาง อาหรับเรียกตำราเล่มนี้ว่า المجسطي ตำราที่ยิ่งใหญ่ แปลเป็นภาษาอาหรับครั้งแรกโดยซะห์ล อิบนุ บิชร (มีชีวิตค.ศ. 786–845) โดยการอุปถัมภ์ของเคาะลีฟะห์อัลมะมูน ตามด้วยการแปลที่สมบูรณ์มากขึ้นอีก 2 ครั้ง โดยฮัจญาจ อิบนุ มะฏอร ในปี ค.ศ. 827-8 และอีกครั้งโดยฮูนัยน์ อิบนุ อิศฮาก ซึ่งได้รับการปรับปรุงต่อมาโดยษาบิต อิบนุ กุรเราะห์ ตำราอัลมาเจสต์ฉบับภาษาอาหรับถูกแปลเป็นละตินในคริสตวรรษที่ 12 โดยเจอร์ราดแห่งครีโมนา ทำให้ตำราเล่มนี้รู้จักในยุโรปในนามของ almagest ทฤษฎีของเขาได้รับการยอมรับในยุโรปว่าอธิบายจักรวาลได้ดีที่สุดขณะนั้น จนกระทั่งถึงสมัยของโคเปอร์นิคัส
กระนั้น ในช่วงคริสตวรรษที่ 13-14 นักดาราศาสตร์มุสลิมหลายท่าน ก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นหลังค้นพบข้อผิดพลาดของทอเลมี โดยเฉพาะความไม่สอดคล้องกับตำแหน่งการโคจรของดาวเคราะห์ที่สังเกตได้ ที่สะสมมากขึ้น ความผิดพลาดนี้ถูกเรียกว่า equant problem ช่วงปลายของสมัยกลางจึงมีบรรดานักดาราศาสตร์มุสลิมคิดค้นทฤษฎีจำนวนมากที่นำมาหักล้างคำสอนของทอเลมี ซึ่งเราจะกล่าวต่อไป
เคาะลีฟะห์(กาหลิบ)อัลมะมูนแห่งวงศ์อับบาซิยะห์(ปกครองช่วงปี ค.ศ. 813-833) นับเป็นบุคคลสำคัญที่ให้อุปถัมภ์การแปลตำราดาราศาสตร์ของกรีก นอกจากหอดูดาวที่บัยตุลฮิกมะห์แล้ว อัลมะมูนยังได้สั่งให้ตั้งหอดูดาวอีกสองแห่ง คือที่บริเวณประตูชัมมาซิยะห์ของนครแบกแดด และบนเขากอสิยูน นอกเมืองดามัสกัส อิบรอฮิม อัลฟาซะรีย์ หนึ่งในนักดาราศาสตร์ของเคาะลีฟะห์ น่าจะเป็นมุสลิมคนแรกที่ประดิษฐแอสโตรแลบ โดยอาศัยต้นแบบของกรีก และจากสถานที่เหล่านี้ที่นักดาราศาสตร์ซึ่งทำงานภายใต้การอุปถัมภ์ของเคาะลีฟะห์ “ไม่เพียงแต่สังเกตการณ์การเคลื่อนตัวของจักรวาลอย่างเป็นระบบ แต่ยังสามารถยืนยันหลักการพื้นฐานที่ระบุไว้ในอัลมาเจสต์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเรื่องของการเกิดคราส กระบวนการเกิดวิษุวัต (Equinox) ความยาวนานของปีสุริยคติ และอื่นๆอีกมาก”
 
รูปที่ 2 ตำราอัลมาเจสต์ ของทอเลมี ฉบับภาษาอาหรับ คาดว่าเป็นเล่มที่แปลโดยฮูนัยน์ อิบนุอิศฮาก (มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 809-873)
------------------------------------------------------------------------
เรื่องที่เกี่ยวข้อง