ปืนใหญ่กระบอกนี้หล่อขึ้นที่สงขลา เมื่อปี ค.ศ.1623 สมัยที่นครรัฐสงขลาปกครองโดยสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ และตั้งป้อมเมืองอยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง มีความยาว 11 ฟุต 10 นิ้วครึ่ง
เมื่ออยุธยายึดสงขลาได้ในปี ค.ศ. 1680 ก็ขนปืนกระบอกนี้กลับไปอยุธยา หลังพม่าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1766-1767 ก็ขนกลับไปพม่า ปืนกระบอกนี้มีส่วนในการรบกับอังกฤษถึง 3 ครั้ง ก่อนที่พม่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ในปี ค.ศ. 1887 เมื่อพม่าเสียเมือง อังกฤษขนปืนใหญ่กระบอกนี้ไปตั้งแสดงไว้หน้าโรงพยาบาลหลวงเชลซี ในกรุงลอนดอน (The Royal Hospital at Chelsea) จนถึงทุกวันนี้
บนปืนใหญ่มีข้อความทั้งภาษาอาหรับ มลายู(ตัวอักษร jawi) และพม่าสลักอยู่ ดังนี้
-ข้อความที่ 1(อาหรับ) ya dha’l-liwa wal ’alam, ya dha’l jud wan ni’am, ya dha’l fadl wal karam, ya dha’l ba’s wan niqam
โอ้ ผู้ทรงสิทธิในธงชัยและสัญลักษณ์ โอ้ ผู้ทรงเอื้อเฟื้อและผู้ทรงประทานความโปรดปราน โอ้ ผู้ทรงประทานความช่วยเหลือและกรุณา โอ้ ผู้ทรงอำนาจและทรงสิทธิในการลงโทษ
-ข้อความที่ 2 (มลายู) Hadrat Ahmat 'Arabi nasab, Akan Tuhan dzat-nya ajah, Dengan bahasa ia ilmu dan adab, Maka katakan dengan bahasa Arab
ท่านชัยค์อะหมัด ผู้มีเชื้อสายอาหรับ แด่พระเจ้า ซึ่งอาตมัน(ซาต)ของพระองค์นั้นไม่เหมือนสิ่งอื่นใด ด้วยรู้สึกเคารพในเหล่าวิชาความรู้และมารยาท ซึ่งกล่าวขานเป็นภาษาอาหรับ
-ข้อความที่ 3 (อาหรับ) Ya man Ghafur wa Ghaffar, Ya man Shakur wa sattar, Wahshurna ma'al-abrar, Subhanaha'llah Allah Akbar
โอ้ ผู้ทรงให้อภัย ผู้ทรงเอื้อเฟื้อ ผู้ทรงลบล้างความผิด ขอให้ข้าพระองค์ฟื้นขึ้นในวันแห่งการฟื้นชีพด้วยความดีงาม มหาบริสุทธ์แด่พระองค์ พระองค์ผู้ทรงเกรียงไกร
-ข้อความที่ 4 (มลายู) Meriam di perbuat ada-lah sudah, Mengucap shukur ka hadzat Allah, Jadikan tanda meninggalkan manah} Akan membunuh kafir alaihi'l-la'anah
นี่คือปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นและเสร็จสิ้น ขอขอบพระคุณพระองค์อัลลอฮฺ มันจะเป็นดั่งของขวัญที่ใช้ปรัตประหารกาเฟร (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) ผู้ที่ถูกสาบแช่ง
-ข้อความที่ 5 (อาหรับ) alamatu Sahib as-Sultan Sulaiman Shah Malik al-Muzaffar ism laqubi fi hijrat thalathin wa situna wa alf fi sanat al-alif wa arba'yaum minshahr Dhu'l da'dah fi yaumi-l-ithnayn
ตราประทับของสุลต่านสุลัยมานชาห์ ฉายาว่ามาลิค อัลมุซอฟฟัร วันจันทร์ที่ 4 เดือนซุลเกียอ์ดะห์ ฮ.ศ. 1063 (ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1623)
-ข้อความที่ 6 (มลายู) Ingat-ingat engkau, hai anak dagang, Ka-tanah juga kita kan pulang, Tuntut oleh-mu ghazi berperang, Janji Tuhan Ka-janat datang.
จำไว้ไว้ห้ดีเจ้าคนแปลกหน้า เราต้องกลับไปสู่ผืนดิน แสวงหาชัยชนะในการต่อสู้ สัญญาของพระเจ้าก็คือสวงสวรรค์
-ข้อความที่ 7 (มลายู) Dar as-salm janat juga, Janat tempat rahmat juga, Penoh dengan ne'emat juga, Dudok bekal dengan suka juga
ใช่แล้ว สวงสวรรค์เป็นที่แห่งสันติ ที่แห่งความเมตตา เต็มไปด้วยความสุขสบาย และความสุขอย่างนิรันดร
- ข้อความที่ 8 ไม่ค่อยชัดเจนนัก Berbuat merium di-hadzirkan, akan kafir sharik zalim ka nuraka jahanam, akan di-pandang sahabat meningalkan zaman
ปืนใหญ่กระบอกนี้แหละที่จะส่งเหล่ากาเฟรผู้อธรรมสู่นรกญะฮันนัม ปืนใหญ่กระบอกนี้ที่เป็นเพื่อนของฉันนี่แหละจะเปิดศักราชแห่งยุคใหม่
- ข้อความที่ 9 (มลายู) Wa nagash, Tun Juma'at Abu Mendus, Singgora benua-nya
ผู้จารึก คือ ตุน ญุมะอัต อะบู เมนดุส แห่งนครสิงกอรา
สำหรับข้อความภาษาพม่า สลักในภายหลัง ระบุว่า “ปี 1128 ได้มาจากการพิชิต Dwarawati” ปีของพม่า ตรงกับ ค.ศ. 1767 และ Dwarawati เป็นชื่อที่พม่าเรียกดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงหมายถึงอาณาจักรอยุธยานั่นเอง
สำหรับนครรัฐสุลต่านแห่งสิงกอราหรือที่เรียกกันว่าเมืองสงขลาที่หัวเขาแดง เป็นรัฐหัวเมืองมลายูที่มีอิสระช่วงสั้นๆในคริสตวรรษที่ 17 คาดว่าชุมชนดั้งเดิมจะอยู่ในเขตสทิงพระ แล้วค่อยๆอพยพมาสร้างชุมชนรอบๆหัวเขาแดง โดยมีดาโต๊ะโมกอล ชาวเปอร์เซีย เป็นเจ้าเมือง ยอมรับอำนาจและส่งเครื่องบรรณาการแก่อยุธยา จากข้อมูลทั้งของดัทช์ อังกษและฝรั่งเศส สรุปได้ว่าสิงกอราเป็นเมืองหลักสำคัญของอยุธยาทางใต้ ท่าเรือสามารถจอดเรือได้ถึง 80 ลำ และมีเส้นทางเดินเรือตามแม่น้ำเชื่อมต่อกับนครรัฐเคดะห์ อุดมไปด้วยแร่ดีบุกและแหล่งปลูกพริกไทย การที่เจ้าเมืองไม่เก็บภาษีเรือ ดึงดูดให้เรือสินค้าทั้งของอังกฤษ ดัทช์และฝรั่งเศสแวะเทียบท่า
ดาโต๊ะโมกอลเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1620 สุลัยมาน ลูกชายได้สืบต่อตำแหน่งเจ้าเมือง อีก 10 ปีต่อมา ราชินีอุงูแห่งปาตานีทำสงครามกับอยุธยา โดยส่งกองท้พโจมตี Ligor (นครศรีธรรมราช) และ Bordelongh (พัทลุง) สงขลาต้องไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทูตจากสงขลาไปขอความช่วยเหลือจากอยุธยาในปี ค.ศ. 1633 แม้ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าอยุธยาส่งกองทัพไปช่วยหรือไม่ แต่บันทึกของดัทช์ระบุว่าเมืองสงขลาเสียหายอย่างหนัก และไร่พริกไทยถูกทำลาย
อย่างไรก็ตาม Jeremias van Vliet ตัวแทนการค้าของบริษัท Dutch East India ในอยุธยา ระบุว่าในปี ค.ศ. 1642 สุลัยมานได้สถาปนาตนเป็นสุลต่านและประกาศอิสระจากอยุธยา ได้สร้างป้อม หอรบ กำแพงและคูเมือง ทั้งขยับขยายท่าเรือจนการค้าเฟื่องฟู เรือสินค้าทั้งของดัทช์และโปรตุเกสแวะเทียบท่า ทางอยุธยาส่งทัพเพื่อปราบปรามสงขลาอย่างน้อย 3 ครั้งในสมัยสุลต่านสุลัยมาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สุลต่านสุลัยมานยังได้ส่งฟาริซี น้องชาย ปกครองเมืองไชยบุรีบนฝั่งพัทลุงเพื่อป้องกันการโจมตีทางบก สมัยนั้น แผ่นดินอยุธยาอยู่ในยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าประสาททอง (ค.ศ.1630-1656)
สุลต่านสุลัยมานเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1668 มุสตอฟา น้องชายได้สืบต่ออำนาจ และเกิดสงครามกับปาตานี แม้ทางสุลต่านแห่งเคดะห์จะพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยความมั่นใจในกองทัพ ปืนใหญ่และกำแพงเมืองที่แข็งแกร่ง แม้กำลังทหารจะน้อยกว่ากองทัพปาตานีถึงหนึ่งต่อสี่
ปี ค.ศ. 1679 อยุธยาส่งกองทัพหวังเผด็จศึกขั้นเด็ดขาด การเตรียมการป้องกันเมืองของทางสงขลาได้รับการบันทึกโดยพ่อค้าอังกฤษสมัยนั้น หลังจากที่ล้อมอยู่นาน 6 เดือน ในปี ค.ศ. 1680 สงขลาก็แตก ทหารอยุธยาได้ทำลายป้อมเมืองลงเสียส่วนใหญ่ เหลือเท่าที่ปรากฏเป็นป้อมเมืองไม่กี่แห่งในปัจจุบัน
ปี.ศ. 1685 ทางอยุธยาเสนอยกสงขลาให้ทางฝรั่งเศสเข้าดูแล หวังจะให้ช่วยฟื้นฟูเมืองและการค้าที่เสียหายจากสงคราม แต่ดูเหมืองฝรั่งเศสจะไม่สนใจ Marquis de Seignelay เสนาบดีกระทรวงกิจการทางทะเลของฝรั่งเศสได้ตอบกลับกับโกษาปาน ทูตอยุธยาที่ถูกส่งไปฝรั่งเศษว่าสงขลาเหลือแต่เพียงซากเมือง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และขอจัดตั้งคลังสินค้าของตนขึ้นที่บางกอกแทน อย่างไรก็ตามหลังสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายน์มหาราช (ค.ศ. 1656-1688) ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศสก็ขาดสะบั้นลง
ในช่วงวาระที่ไทยและฝรั่งเศสร่วมกันจัดงานฉลองสัมพันธภาพครบ ๓๐๐ ปี เมื่อปี พ.ศ. 2529 ทางฝรั่งเศสได้มอบสำเนาเอกสารโบราณสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เกี่ยวกับสยามในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ มีเอกสารผังเมือง 3 แห่งประกอบด้วย Ligor (นครศรีธรรมราช) Bourdelun (พัทลุง) และ Singora (สงขลา) เป็นลายเส้นผลงานของวิศวกรยุคนั้นชื่อ มงสิเออร์ เดอ ลามาร์ ทำให้เรารู้จักสภาพของเมืองสงขลา ณ หัวเขาแดงสมัยนั้นได้โดยชัดเจนทีเดียว
[ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงบริเวณที่เคยเป็นเมืองสงขลา ฝั่งหัวเขาแดง]
ผังเมืองสิงกอราที่เขียนโดยมงสิเออร์ เดอ ลามาร์ ชาวฝรั่งเศส
ป้อมและกำแพงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงที่หลงเหลืออยู่ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2535
[ป้อมหมายเลข 9 ฝั่งหัวเขาแดง]