อัศศูฟีย์เกิดที่เมืองรอย (ชานเมืองเตะฮะรานปัจจุบัน) และเริ่มสังเกตท้องฟ้าจากหอสังเกตการณ์ที่นั่น แต่สถานที่สำคัญที่เขาได้มีโอกาศทุ่มเทให้กับการศึกษาดาราศาสตร์ก็คือหอดูดาวที่เมืองชิราซ
ตำราที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ Kitab suwar al-Kawakib al-Thabitah (ตำราว่าด้วยรูปของดวงดาวประจำท้องฟ้า, صور الكواكب الثابتة ,The Book of Fixed Stars) รวบรวมข้อมูลดาวฤกษ์ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าตั้งแต่สมัยโบราณทั้งหมด 1,025 ดวง ใน 48 กลุ่มดาว ตามที่มีการบันทึกในตำราอัลมาเจสต์ ตำราดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของทอเลมี ชาวกรีก ซึ่งอาหรับใช้อ้างอิงในยุคแรกๆที่เริ่มสนใจศึกษาดาราศาสตร์ ข้อมูลดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในอัลมาเจสต์ที่ทอเลมีบันทึกไว้นั้น มาจากการบันทึกของฮิพพาร์คัส นักดาราศาสตร์ชาวกรีกที่มีชีวิตในช่วง 190-127 ปีก่อนคริสตกาล อัศศูฟีย์อาศัยการสังเกตจากหอดูดาวที่ชิราซเพื่อปรับปรุงข้อมูลดาวฤกษ์เหล่านั้นเสียใหม่ ระบุตำแหน่งลองติจูดและละติจูดท้องฟ้าของดาวฤกษ์ที่สังเกตได้ในปี ค.ศ. 964 เพิ่มข้อมูลชื่อดาวตามที่ชาวอาหรับเบดูอินเรียก นอกจากชื่อเดิมของกรีก ระบุสีของดาว อัศศูฟีย์ยึดการแบ่งค่าความสว่างของดาวตามตำราอัลมาเจสต์ ที่แบ่งออกเป็น 6 แมกนิจูด เรียกดาวที่สว่างที่สุดว่า “แมกนิจูดที่หนึ่ง” และดาวสว่างระดับที่สองว่า “แมกนิจูดที่สอง” ไล่ไปเรื่อยๆ ดาวที่มีเลขแมกนิจูดมากก็จะยิ่งสว่างน้อย จากการสังเกตการณ์ของเขา ได้แก้ไขค่าความสว่าง(แมกนิจูด)ให้ถูกต้องเสียใหม่ถึงครึ่งหนึ่งของดาวที่ระบุในตำราอัลมาเจสต์
เขายังได้ระบุตำแหน่งของดาวฤกษ์ใหม่ที่เขาสังเกตเองกว่า 40 ดวง ในฉบับเก่าแก่ที่สุดของตำราเล่มนี้ที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นฉบับคัดลอกโดยลูกชายของเขาเมื่อปี ค.ศ. 1009 (ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุด Bodleian, Oxford เรียกกันว่าฉบับ Marsh 144) ระบุตำแหน่งดาวฤกษ์ใหม่ที่เขาค้นพบนี้เป็นจุดสีดำ โดยไม่ได้ลงหมายเลขกำกับไว้ แสดงให้เห็นว่าเขาพยายามคงไว้ซึ่งการแบ่งกลุ่มดาวตามแบบของทอเลมี ดาวฤกษ์ที่ทอเลมีจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวจะระบุตำแหน่งเป็นจุดสีแดง และลงหมายเลขกำกับเป็นสีดำ ส่วนดาวฤกษ์ที่ทอเลมีถือว่าอยู่นอกกลุ่มดาว จะระบุเป็นจุดสีดำและลงหมายเลขกำกับเป็นสีแดง ฉบับคัดลอกสมัยต่อๆมาจะใช้สีที่หลากหลายขึ้นในการลงจุดระบุตำแหน่งและกำกับหมายเลข (ดูรูปที่ 1)
[รูปที่ 1 กลุ่มดาวหมีเล็กจากหนังสือ Suwar al-Kawakib al-Thabitah ฉบับ Marsh 144 อาหรับมองต่างจากของกรีกตรง
อัศศูฟีย์ได้ระบุตำแหน่งเทห์วัตถุบนฟากฟ้าที่ไม่ได้เป็นดวงดาว 3 ตำแหน่ง ได้แก่กาแล็กซี่แอนโดรมีดา (NGC224) ซึ่งเขาเรียกว่า “กลุ่มเมฆเล็กๆ”(latkha sahabiyah) อยู่ที่บริเวณปากของปลาใหญ่ในกลุ่มดาวแอนโดรมีดา (ดูรูปที่ 3) นักดาราศาสตร์ของหอดูดาวเมืองอิสฟะฮานรู้จักกลุ่มเมฆเล็กๆนี้ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 905 กาแล็กซีแอนโดรมีดาถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในยุโรปโดย Simon Marius เมื่อปี ค.ศ. 1612 หลังมีการประดิษฐกล้องโทรทรรศน์แล้ว เทห์วัตถุอีกสองจุดที่อัศศูฟีย์ระบุได้แก่เทห์วัตถุคล้ายๆกลุ่มเมฆเล็กๆในกลุ่มดาวสุนัขจิ้งจอกเล็ก (Vulpecula) ปัจจุบันรู้จักกันในนามของ กระจุกดาว Brocchi และกลุ่มเมฆดาวเล็กๆ ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า Omicron Velorum IC 2391
มีฉบับภาษาละตินอยู่ 8 เล่มที่ใช้ชื่อหนังสือว่า Sofi Latinus สำหรับฉบับที่หอสมุด bibliotheque nationale paris ระบุผู้เขียนว่า Ebennesophy ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าคืออิบนุ อัศศูฟีย์ ลูกชายของเขานั่นเอง
ผลงานของอัศศูฟีย์ถูกใช้อ้างอิงโดยนักดาราศาสตร์มุสลิมยุคหลังๆ ทั้งอัลบัยรูนีย์, อิบนุ ยูนุส, นาศิรุดดีน อัตตูซีย์ และอุลุคห์เบค ในคริศตวรรษที่ 15 อะหมัด อิบนุ มาญะห์ กลาสีเรือผู้ชำนาญการเดินเรือในมหาสมุทรอินเดียและช่วยให้วาสโก ดา กามา เดินเรือจากฝั่งตะวันออกของทวีปอัฟริกาข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเมืองกาลิกัตในอินเดีย ได้อ้างอิงผลงานของอัศศูฟีย์ในตำราของเขา ผลงานของอัศศูฟีย์เป็นที่รู้จักและเป็นคู่มือกำหนดทิศเดินเรือของกลาสีเรือตามเมืองและเกาะต่างๆที่เป็นเมืองท่าการค้าตลอดชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย
ผลงานของอัศศูฟีย์เข้าสู่ยุโรปคริสเตียนช่วงคริสตวรรษที 13 เมื่อกษัตริย์อัลฟองโซที่ 10 สั่งให้นักวิชาการเขียนตำรารวบรวมความรู้สมัยนั้นประมาณ 30 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นของมุสลิม หนึ่งในตำราเหล่านั้นได้แก่ Libros de las Estrellas Fixas (Books on the Fixed Stars) เขียนโดย Yehudah Ibn Mosheh และ Guilleb Arremon Daspa ส่วนใหญ่อ้างอิงงานของอัศศูฟีย์ ช่วงเวลาดังกล่าว คริสเตียนสเปนได้พิชิตศูนย์กลางอำนาจของมุสลิมส่วนใหญ่ไว้ได้แล้ว อันได้แก่เมืองเซบิยา คอร์โดบา และวาเลนเซีย มุสลิมอันดาลูเซียยังคงอำนาจอยู่รอบๆเกรนาดาเท่านั้น
อีก 2 ศตวรรษต่อมา Peter Apian (ค.ศ.1495-1552) นักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน เขียนหนังสือ Astronomicum Caesaream ประกอบด้วยแผนที่ดาวซึ่งใช้แหล่งข้อมูลจากตำราของอาหรับ รวมถึงของอัศศูฟีย์ ทำให้ชื่อดาวภาษาอาหรับจำนวนมากแพร่หลายสู่ยุโรป เขากล่าวถึงอัศศูฟีย์ในงานเขียนของเขาว่า Azophi
ค.ศ. 1603 Johann Bayer นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันได้คิดระบบการเรียกชื่อดาวแบบใหม่ โดยเอาตัวอักษรอักษรกรีกนำหน้า แล้วต่อด้วยชื่อกลุ่มดาวที่ดาวดวงนั้นอยู่ เรียงตามลำดับความสว่าง กระนั้นเขาก็ได้กำกับชื่อสามัญเดิมของดาวที่สำคัญๆ ซึ่งหนึ่งในตำราที่เขาใช้อ้างอิงคือ Libros de las Estrellas Fixas (Books on the Fixed Stars) จากสเปน ที่อ้างอิงงานของอัศศูฟีย์
ต้นคริสตวรรษที่ 19 Giuseppe Piazzi ชาวอิตาลี ได้จัดทำฐานข้อมูลดวงดาวจำนวน 6,784 ดวง โดยในส่วนของดาวฤกษ์โบราณที่มีการค้นพบก่อนการประดิษฐกล้องโทรทรรศน์ เขาได้อ้างอิงตำราของอุลุคห์เบค ซึ่งก็อ้างอิงมาจากผลงานของอัศศูฟีย์อีกทีหนึ่ง ทำให้ชื่อดาวภาษาอาหรับกว่าสองในสามที่ใช้เรียกกันอยู่แพร่หลายสู่ยุโรป ปัจจุบันมีดาวที่มีชื่อรากศัพท์จากภาษาอาหรับ 210 ดวง เช่น Aldebaran (ผู้ติดตาม) Achernar (ปลายแม่น้ำ) Betelgeuse (จาก Yad al-Jauzā มือของนายพราน) Formalhaut (ปากปลาวาฬ) Rigel (เท้า) และ Vega (มาจาก an-Nasr al-Waqi แปลว่า การโฉบของนกอินทรีย์) ฯลฯ ฐานข้อมูลดาวของ Piazzi ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งอ้างอิงที่มีมาตรฐานในวงการดาราศาสตร์ตลอดคริสตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสตวรรษที่ 20
ปัจจุบัน มีการตั้งชื่อเครเตอร์แห่งหนึ่งบนดวงจันทรว่า Azophi เป็นชื่อที่ชาวตะวันตกเรียกอัศศูฟีย์ และตั้งชื่อของดาวเคราะห์น้อย 12621 Alsufi
-----------------------------------
เรื่องที่เกี่ยวข้อง