เรามักจะได้ยินเรื่องราวของปืนใหญ่พญาตานี ว่าหล่อโดยช่างชาวจีน นามลิ้มโต๊ะเคี้ยม ทั้งนี้ มีบันทึกประวัติศาสตร์อ้างอิงเรื่องนี้ที่สำคัญสองชิ้นคือ 

patta 5

1. หนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๓ พงศาวดารเมืองตานี เรียบเรียงในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ระบุว่านางพญาปัตตานีได้หล่อปืนทองเหลือง 3 กระบอก โดยนายช่างเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อเคี่ยม แซ่หลิม มาได้ภรรยาชาวเมืองปัตตานี เลยนับถือศาสนาอิสลาม จึงเรียกว่า หลิมโต๊ะเคี่ยม ตอนหล่อกระบอกที่สาม มีปัญหาเททองไม่ลงเบ้า หลิมจึงตั้งพิธีบวงสรวงเทวดา ขอเอาร่างกายเป็นเครื่องสังเวย ในที่สุดก็สามารถเททองหล่อปืนได้สำเร็จ และยอมอุทิศชีวิตด้วยการนำร่างเข้าไปยืนตรงหน้าปืนกระบอกที่สามแล้วสั่งให้คนยิงปืน แรงของดินระเบิดหอบพาร่างของหลิมหายสาบสูญไป 

พงศาวดารนี้ พระยาวิเคียรคีรีเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของผู้คนยุคนั้น (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) เป็นหลักฐานที่บันทึกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังสยามตีปัตตานีแตกในปี ค.ศ. 1786(ปีที่ปืนใหญ่กระบอกนี้ถูกขนไปยังกรุงเทพ) เกือบร้อยปี ทั้งยังระบุชื่อราชินีที่สั่งให้สร้างปืนไว้ไม่กระจ่างชัดว่าเป็นคนใหน

2. หนังสือ ซือญาเราะห์ กือราญออัน มลายู ปาตานี (Sejarah Kerajaan Melayu Patani) เขียนโดยนายอิบรอฮิม ชุกรี ชาวกลันตัน ระบุว่าสร้างในสมัยราชินีบีรู (ค.ศ. 1616 – 1624) เพื่อเตรียมต่อสู้กับการรุกรานของกองทัพอยุธยา จึงให้มุขมนตรีจัดหาทองเหลือง ได้ช่างชาวจีนชื่อ โกเคี่ยม ที่ภายหลังเป็นมุสลิม เรียกกันว่า โต๊ะเคี่ยม มาเป็นคนหล่อปืนใหญ่ 3 กระบอก ชื่อ ศรีนัครา ศรีปาตานี และมหาเลลา 
อิบรอฮิม ชุกรี เป็นนักเขียนยุคใหม่ โดยนำข้อมูลจากบันทึกส่วนบุคคลก่อนหน้านั้นหลายๆแหล่งมาเรียบเรียง (โดยเฉพาะ Cetera Negeri Patani) หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1958

สำหรับเรื่องราวที่ต่างไปจากนี้ มาจาก ฮิกายัตปาตานี (Hikayat Patani) ระบุว่า สร้างในสมัยพญาอินทิรา (สุลต่านอิสมาอีล ชาห์ ค.ศ. 1500-1530) โดยช่างชื่อ อับดุซศอมัด อัรรูมีย์ ที่หมู่บ้าน Tembaga เมื่อวันที่ 3 เดือนรอมฏอน คืนวันอังคาร ปีฮิจเราะห์ 78 (ตัวเลขในต้นฉบับชำรุด) ได้ปืนใหญ่รวม 3 กระบอก คือ Seri Negeri, Tuk Buk และ Nang liu-liu ฮิกายัตปาตานีระบุถึงสาเหตุที่ทำให้พญาอินทิราสั่งให้หล่อปืนใหญ่ว่าเพราะมีนายเรือสำเภาจีนได้นำลูกปืนใหญ่มาถวาย ทำให้สุลต่านเกิดความละอาย เพราะปัตตานีสมัยนั้นหาได้มีปืนใหญ่ไม่ จึงสั่งให้จัดหาช่างและทองเหลืองมาหล่อปืนให้ได้ในเวลา 3 ปี ปรากฏว่าระหว่างนั้นมีพ่อค้าชาวเมืองมินังกาเบาชื่อเช็คกอมบัค และลูกน้องชื่ออับดุลมุอฺมิน ลักลอบนำทองเหลืองไปจำหน่ายให้พ่อค้าสำเภาชาวเมืองมะละกา แต่ถูกจับได้ สุลต่านมีรับสั่งให้ประหารชีวิตและนำศพไปทิ้งไว้ในคลองปาเระ ต่อมามีผู้นำศพบุคคลทั้งสองไปฝังไว้ที่หาดทรายบ้านดาโต๊ะ ปัจจุบันเรียกที่ฝังศพนี้ว่า “กูโบร์โต๊ะปันญัง”


patta 2

ตามบันทึกนี้ อับดุซศอมัด อัรรูมีย์ ก็น่าจะเป็นชาวเติร์ก คำว่าอัรรูมีย์หมายถึงชาวเมืองรูม หรือโรมัน ซึ่งหมายถึงตุรกี เพราะเคยเป็นที่ตั้งของไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก อยุธยารู้จักตุรกีในชื่อ"หรุ่มโต้ระกี่" เรียกสั้นๆว่า"หรุ่ม" ในจารึกโคลงภาพคนต่างภาษาที่วัดโพธิ์ ทำขึ้นในสมัยรัชการที่ 3 เขียนว่า "เรียกหรุ่มโต้ระกี่เป็นอย่างไว้” และสุนทรภู่ระบุชื่อเมืองนี้ในเรื่องพระอภัยมณีว่า “เมืองฉ่ามะหรุ่ม”

ในบันทึกของอุษมานิยะห์หรือออตโตมัน อะเจห์ และโปรตุเกส แสดงให้เห็นว่าออตโตมันสถาปนาความสัมพันธ์กับมุสลิมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอะเจห์ตั้งแต่ช่วงปี 1530 ภายหลังได้ส่งเรือรบ นักรบรับจ้าง อาวุธยุทโธปกรณ์ และนายช่างมาช่วยสอนวิธีการหล่อปืนใหญ่ให้อะเจห์ เพื่อใช้ต่อสู้กับโปรตุเกส ซึ่งเทคนิคการหล่อปืนใหญ่นี้ยังแพร่หลายไปยังมากัซซาร์ มาทะราม มินังกาเบาและบรูไน การปรากฏตัวของอับดุซศอมัด ชาวตุรกี ที่ปัตตานีจึงสอดคล้องกับช่วงที่ออตโตมัน ในฐานะผู้นำโลกอิสลามยุคนั้น ส่งช่างหล่อปืนใหญ่มาช่วยมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อสู้กับชาติล่าอาณานิคมชาวตะวันตก 

คุณอนันต์ วัฒนานิกร อดีตศึกษาธิการอำเภอยะรัง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อพิจารณารูปแบบปืนใหญ่พญาตานีมีลักษณะรูปปืนโบราณ ปืนกระบอกนี้ควรจะหล่อก่อนยุคสมัยราชินีบีรู คือยุคแรกๆ ของการนำปืนใหญ่มาใช้ในแหลมมลายู จากหลักฐานของโปรตุเกสตอนที่ตีมะละกาแตกเมื่อปี ค.ศ. 1511 พบว่ามะละกามีปืนใหญ่ใช้แล้วเป็นจำนวนมาก แต่มีสมรรถนะสู้ปืนที่ทำในยุโรปไม่ได้ ปาตานีซึ่งสมัยนั้นเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งเมืองหนึ่งในแหลมมลายูด้วยเหตุที่พ่อค้ามุสลิมหันมาทำการค้าแทนที่มะละกาที่ถูกยึดไป ก็น่ามีปืนใช้แล้วตั้งแต่สมัยนั้น
ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่า ปืนพญาตานี ควรจะสร้างขึ้นในสมัยพญาอินทิรา ผู้เป็นปู่ของราชินีบีรูมากกว่า และตอนที่มีการนำปืนใหญ่มาไว้ที่กรุงเทพ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรับสั่งให้จารึกนามลงไว้กับกระบอกปืนว่า “พญาตานี” หากผู้สร้างเป็นราชินีบีรู ย่อมรับสั่งให้จารึกชื่อกระบอกปืนว่า “นางพญาตานี” แทนเป็นแน่

อีกประการหนึ่ง สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปืนตามที่ระบุในฮิกายัตปาตานี เช่น ศิลาลายเมฆเหนือหลุมศพพญาอินทิรา สถานที่ประหารและสุสานของเช็คกอมบัคและอับดุลมุอมิน(กูโบร์โต๊ะปาแย) ประตูช้าง บ้านกะดี (กฎี) และคลองปาเระ ก็ยังคงปรากฏเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

patta 1\สำหรับ ฮิกายัตปาตานี เป็นพงสาวดารที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ปัตตานี ตั้งแต่ปลายคริสตวรรษที่ 15 จนถึงต้นคริสตวรรษที่ 18 โดยผู้เขียนที่ไม่ปรากฏชื่อไม่ต่ำกว่า 6 คน คาดว่าจะเป็นราชเลขาในวังของสุลต่านปัตตานี เขียนในช่วงปี ค.ศ. 1690-1730 ด้วยภาษามลายูอักขระยาวี ต้นฉบับฮิกายัตปาตานีมีสำนวนต่างๆกัน และที่ค้นพบแล้วมีทั้งหมด 6 สำนวน เก็บรักษาไว้ตามที่ต่างๆ ( Dewan Bahasa dan Pustaka KL, หอสมุดมหาวิทยาลัยมลายา, พิพิธภัณฑสถานแห่งรัฐตรังกานู, มหาวิทยาลัยไลเดน เนเธอร์แลนด์, ห้องสมุดของ The Asiatic Society London, ห้องสมุดของ The Asiatic Society Madras Branch, India) ฉบับมีชื่อเสียงที่สุดคือฉบับของ อับดุลลอฮฺ มุนชี คาดว่าต้นฉบับถูกนำออกจากปัตตานีไปไว้ที่กลันตันหลังเหตุการณ์กบฏหัวเมืองมลายูช่วงปี ค.ศ. 1830 อับดุลลอฮฺ มุนชีไปพบในปี ค.ศ. 1839 และนำกลับไปสิงค์โปร์พร้อมคัดลอกขึ้นใหม่ มีผู้ซื้อแล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน กรุงวอชิงตันดีซี ปรากฏว่าศาสตราจารย์ทิว (A. Teeuw) นักภาษาศาสตร์ชาวฮอลันดาผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู-อินโดเนเซีย ไปพบเข้าเมื่อปี ค.ศ.1967 จึงร่วมกับศาสตราจารย์เดวิด วัยอาจ(David K. Wyaat) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย ศึกษาวิเคราะห์และแปลเป็นภาษาอังกฤษ แบ่งออกเป็น 2 เล่ม ในชื่อว่า Hikayat Patani: The Story of Patani กลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์โบราณของปัตตานีที่นิยมใช้ศึกษาและอ้างอิงมากที่สุด

patta 4

อ่านเพิ่มเติม 

ฮิกายัต ปัตตานี เล่าเรื่องเมืองปัตตานี 

Hikayat Patani : The Story of Patani