ระยะเวลา 15 ศตวรรษหรือ 1,500 ปีนี้ มาจากภาพปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง หรือเหลียงชู ของจีน (ค.ศ. 502 - 563) บุคคลในภาพชื่อ อชิตะ (จีนออกเสียงเป็นอาเซ่อตัว) เป็นราชทูตจากลังกาสุกะ (จีนออกเสียงเป็น หลังหยาสิ้ว บางแหล่งเรียก หลาง หย่า ซุ่ย)
มีคำบรรยายภาพว่า "เป็นคนหัวหยิกหยอง น่ากลัว นุ่งผ้า โจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ" โดยเดินทางไปเยือนราชสำนักจีนในปี ค.ศ. 515 สมัยพระเจ้าอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหลียง ทางการจีนได้เขียนภาพ อาเซ่อตัว ไว้เป็นที่ระลึก พระเจ้าแผ่นดินแห่งลังกาสุกะในเวลานั้น ทรงพระนามว่า ภัคทัต จีนออกเสียงเป็น ผอเจี่ยต้าตัว
บันทึกนี้ยังระบุรายละเอียดอีกว่า "หลังหยาสิ้ว อยู่ในบริเวณทะเลใต้ ห่างจากเมืองท่ากวางตุ้ง ๒๔,๐๐๐ ลี้ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศผัน-ผัน หรือ พาน-พาน ประเทศนี้มีความกว้างยาว วัดด้วยการเดินเท้าจากทิศใต้ไปจรดทิศเหนือ ใช้เวลาเดินทางกว่า ๒๐ วัน และหากเดิน จากทิศ ตะวันออก ไปถึงตะวันตกก็จะใช้เวลา ๓๐ วัน ตัวเมืองลังกาสุกะ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตู และหอคอยคู่ พระราชา มีพระนามว่า ภคทัต เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใด จะทรงช้างเป็นพาหนะ มีฉัตรสีขาวกั้น มีขบวนแห่ประกอบด้วยกลอง และทิวนำหน้า แวดล้อมด้วยทหารที่มีหน้าตาดุร้าย คอยระแวดระวังพระองค์ ชาวเมืองนิยมไว้ผมยาว ผู้หญิงแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย (Ki-Pei) มีเครื่องเพชรพลอยประดับตบแต่งกาย ผู้ชายมีผ้าพาดไหล่ทั้งสอง มีเชือกทอง คาดต่างเข็มขัด และสวมตุ้มหูทองรูปวงกลม
จากบันทึกในคริสตวรรษที่ 7 Kartasaritsagara ของอินเดียเรียกว่า อิลังกาโสกา ตั้งอยู่ในคาบสมุทรมลายูหรือสุวรรณทวีป (สุวรรณภูมิ) หนังสืออาหรับ อัลมินฮาจ อัลฟาคิร ฟี อิลมิ อัลบัหริ อัซซาคิร เขียนในปี ค.ศ. 1511 เรียกว่า ลันกอชุกา อยู่ระหว่างเมืองกลันตันและสงขลา
จากบันทึกของจีน อินเดีย อาหรับ และของท้องถิ่น พอสรุปได้ว่า ลังกาสุกะเป็นอาณาจักรมลายูโบราณที่ได้รับอิทธิพลของพราหมณ์ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู บางยุคสมัยอาจมีขอบเขตกว้างขวางจนถึงฝั่งตะวันตกของคาบสมุทร เคยส่งทูตและเครื่องราชบรรณาการให้จีน ที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานก็คือในปี ค.ศ. 515, 523, 531 และ 568 มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงคริสตวรรษที่ 10 จนกระทั่งลังกาสุกะตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นยุครุ่งเรืองของพุทธฝ่ายมหายาน ชาวลังกาสุกะก็นับถือพุทธมหายานด้วย มีศาสนสถานทางพุทธสร้างขึ้นหลายแห่งบนคาบสมุทรมลายู รวมถึงพระนอนองค์ใหญ่ในวัดถ้ำคูหาภิมุข จ. ยะลา
เมื่อพระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ 1 แห่งอินเดีย ยกทัพเรือข้ามมายึดรัฐต่างๆของศรีวิชัย ลังกาสุกะก็พลอยถูกยึดไปด้วย ชื่อของลังกาสุกะยังมีอยู่จนถึงคริสตวรรษที่ 14 หลังจากนั้นค่อยๆหายไป พร้อมกับการปรากฏของปาตานีขึ้นมาแทนที่
จากการสำรวจทางโบราณคดี ลังกาสุกะมีศูนย์กลางตั้งอยู่บริเวณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ปรากฏร่องรอยศาสนสถานประเภทสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองโบราณหรือชุมชน คูน้ำ คันดิน โบราณสถานที่เป็นสถูปและศาสนสถาน สระน้ำโบราณ ร่องรอยทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นเมืองเรียงกันถึง 3 เมืองด้วยกัน ได้แก่ เมืองที่กำลังขุดอยู่ที่บ้านวัด (ตำบลวัดและปิตูมุดี) บ้านจาเละ และบ้านปราแว อำเภอยะรัง บ้านปราแวอยู่ริมทะเล มีลักษณะ ค่ายคูประตูหอรบตามมุมเมือง คาดว่าน่าจะเป็นประชาคม 3 แห่ง ที่อยู่ร่วมกันมากกว่าเมือง
โดยรวมแล้วพื้นที่ดังกล่าวนี้ พบร่องรอยทางโบราณคดีถึงกว่า 40 แห่ง ลงมือขุดไปเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ชิ้นใหญ่ ๆ ที่กำลังขุดอยู่เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ทั้งพบคำจารึกภาษาปัลลวะอินเดียโบราณและภาษาสันสกฤตด้วย บ่งบอกอย่างเด่นชัดว่าแรกเริ่มนั้นชาวลังกาสุกะนับถือศาสนาพราหมณ์ แล้วเปลี่ยนมาถือพุทธในภายหลัง
ต่อมาหลังชาวเมืองเปลี่ยนมาเป็นอิสลามแล้ว ผู้คนก็ละทิ้งเมืองที่เต็มไปด้วยศาสนสถานฮินดู-พุทธแห่งนี้ อพยพไปยังเมืองใหม่ที่เป็นท่าเรือติดทะเล บริเวณปัตตานี-กรีอเซะ ในปัจจุบัน