การขุดค้นศึกษาเรืออาหรับโบราณพนมสุรินทร์ จ.สมุทรสาคร โดยกรมศิลปากร ซึ่งค้นพบตั้งแต่ปี 2556 คืบหน้าไปมากในปีนี้ เรือลำนี้เป็นจิกซอร์หนึ่งที่จะปะติดปะต่อให้เห็นความมั่งคั่งของเครือข่ายการค้าทางทะเลระหว่างจีนและอาหรับในอดีตซึ่งดินแดนต่างๆ ในน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปมีส่วนร่วม 

B01

ภาพจากเพจ กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร

การศึกษากำหนดอายุตัวเรือราว 1,200 ปี ร่วมสมัยกับเรือเบลิตุงในอินโดเนเซีย ตรงกับยุคทวารวดี เรือพนมสุรินทร์มีร่องรอยการเย็บเรือแบบ “อาหรับ” ที่นับว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานขุดค้นศึกษานี้ยังต้องติดตามกันต่อไปอีกพอสมควร

ที่ผ่านมา มีแหล่งเรือจมเบลิตุง (belitung shipwreck) ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรา ขุดค้นช่วงปี 1998 พบโบราณวัตถุราว 60,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยจากแหล่งเตาฉางชา เครื่องเคลือบสีเขียวจากกลุ่มเตาเยว่ เครื่องเคลือบสีขาวเขียนลายสีเขียวจากเตาก่งเซี่ยน ฯลฯ ภาชนะเหล่านี้เป็นที่ต้องการของเศรษฐีผู้มีอันจะกินในนครแบกแดด

เส้นทางสายไหมทางทะเลเฟื่องฟูนับตั้งแต่เคาะลีฟะห์อัลมันศูรแห่งอับบาซิยะห์สถาปนาแบกแดดเป็นเมืองหลวงในปี 762 จนเข้าสู่ยุคทองของอิสลามในสมัยเคาะลีฟะห์ฮารูน อัรรอชิด (ค.ศ. 786-809) อัลมันศูรกล่าวตอนดำริจะสร้างแบกแดดว่า “ที่นี่คือแม่น้ำไทกริสที่ไม่มีอะไรขวางกั้นเราจากจีน และสามารถนำทุกอย่างที่จะบรรทุกมาได้”

พ่อค้าอาหรับยุคนั้นกระตือรือร้นที่จะเดินทางสำรวจทางตะวันออกและค้าขายจนถึงประเทศจีน ท่าเทียบเรือสำคัญสำหรับฤดูมรสุมของอาหรับคือเมืองอัลอุบุละห์บนปากแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรติส ใกล้ๆบัสรา และเมืองซีรอฟบนชายฝั่งเปอรเซีย ส่วนที่เมืองจีน พ่อค้าอาหรับตั้งชุมชนขนาดใหญ่ที่เมืองกวางโจว สินค้าสำคัญที่นำไปขายในจีนคือเครื่องหอม ขากลับ พ่อค้าอาหรับก็จะจัดหาสินค้าได้แก่ผ้าไหมและเครื่องถ้วยเพื่อไปขายระหว่างทาง ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา อินเดียตอนใต้ ก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางในตะวันออกกลาง ผ้าไหมและเครื่องถ้วยจากจีนนั้นมีชื่อเสียงเลื่องลือมากในตะวันออกกลาง การนำสินค้าเหล้านี้ไปขายจะสร้างกำไรอย่างงาม มีบันทึกระบุว่าพ่อค้าเมืองบัสราที่แต่งสำเภาไปค้าขายต่างแดนไกลๆ จะมีรายได้ต่อปีมากกว่าหนึ่งล้านดีรฮัมต่อลำเรือ

ช่วงปลายศตวรรษที่ 9 การค้าขายระหว่างจีนกับอาหรับเริ่มชะงักงัน การกบฎทำให้ราชวงศ์ถังอ่อนแอ ในปี 878 กบฏหวงจ้าว (Huang Ch'ao) ได้สังหารหมู่พ่อค้าอาหรับหลายพันคนในกวางโจว พ่อค้าอาหรับจึงหันไปแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวจีนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือแม้แต่หาซื้อเครื่องลายครามจีนในอินเดียแทน ขณะเดียวกันเกิดกบฏทาสผิวดำต่อต้านอำนาจของอับบาซิยะห์ช่วงปี 869-883 ทำให้อุบุละห์กลายเป็นเมืองร้าง อำนาจของอับบาซียะห์ที่ร่วงโรยลงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น ทำให้การค้าทางทะเลค่อยๆหดหาย และสิ้นสุดโดยสิ้นเชิงเมื่อเกิดแผ่นดินไหวทำลายเมืองท่าซีรอฟในปี ค.ศ. 977

b2

B3

ภาพจากเพจ กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร

เรือที่อาหรับใช้เรียกว่า เรือ”ดาว” (dhow) ลำที่เบลิตุงยาว 18 เมตร ส่วนเรือพนมสุรินทร์ยาว 25 เมตร ลักษณะเฉพาะของเรือคือ ใช้เชือกผูกยึดกาบเรือติดกันแบบกากบาท ในตำราอัคบาร อัซซีน วัลฮินด์ (เรื่องเล่าจากจีนและอินเดีย) ของอะบูเซด ฮะซัน อัซซีรอฟฟีย์ พ่อค้านักเดินเรือในศตวรรษที่ 10 ระบุว่าเป็นเทคนิคการต่อเรือใช้กันในทะเลจีน (มหาสมุทรอินเดีย - อาหรับยุคนั้นเรียกว่า บะฮ์ร อัซซีน - ทะเลจีน) โดยเฉพาะที่เมืองซีรอฟ ซึ่งต่างจากเรือที่ต่อในเมืองชาม (ซีเรีย) และทะเลโรมัน (บะฮ์ร อัรรูม - เมดิเตอร์เรเนียน) ที่ใช้ตะปูเหล็กยึด การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์จากไม้ของซากเรือเบลิตุง พบว่าไม้ที่ใช้ต่อเรือลำนี้มีไม้มะค่า (Afzelia Africana) ไม้สนอัฟริกา (Juniperus procera) จากฝั่งอัฟริกาตะวันออก ไม้สักจากอินเดียใต้และเอเซียอาคเนย์ (Tectona grandis) แสดงให้เห็นเครือข่ายการค้าทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและไกลไปกว่านั้นของชาวอาหรับในยุคพันสองร้อยปีที่แล้ว

มีงานเขียนอาหรับสมัยนั้นหลายสิบเล่มที่กล่าวถึงการเดินทางสู่โลกตะวันออก ทั้งที่เป็นตำราประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปทานุกรมบ้านเมือง บันทึกเรื่องเล่าของชาวเรือ ฯลฯ เรื่องราวการผจญภัยในทะเลของผู้คนยุคนั้นถูกสะท้อนออกมาเป็นนิทานเรื่องเล่ากะลาสีซินด์แบด (Sindbad the Sailor) ที่รู้จักกันดี ปัจจุบันมีศัพท์ทางภูมิศาสตร์และการเดินเรือที่มาจากภาษาอาหรับเช่น Admiral, Cable, Monsoon, Arsenal, Tariff และ Corvette

B5

ภาพเรืออาหรับจากหนังสือ มะกอมาตตุลฮะรีรีย์ วรรณกรรมร้อยแก้วเรื่องการผจญภัยของอะบูเซดจากซีเรียและอัลฮาริษ พ่อค้านักเดินทาง ส่วนภาพเขียนวาดโดยอัลวาสิตีย์ในปี ค.ศ.1273 ยี่สิบปีหลังแบกแดดโดนมองโกลทำลาย

image 11 jewel of muscat sailing

456752

เรือดาวอาหรับวาดขึ้นตามแบบของเรือที่จมที่เบลิตุง

sunken treasure a ninth century shipwreck 1

เส้นทางเดินเรืออาหรับกับจีน และบริเวณที่ค้นพบซากเรือเบลิตุง

Leonor shipwreck 5 bowls

เครื่องถ้วยชามจากซากเรือจมเบลีตุง จัดแสดงโดย Asian Civilisation Museum ประเทศสิงคโปร์

อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม 

อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม
เขย่าปม ‘พนมสุรินทร์’ เรืออาหรับ 1,200 ปี วันนี้ถึงไหน ?

7 ปีในนากุ้ง 1,200 ปีในประวัติศาสตร์ ‘เรือโบราณพนมสุรินทร์’ กรมศิลป์ถึงเวลา ‘เอาจริง

1,000-year old Arab ship found under shrimp farm

ศิลป์เสวนาเรื่อง "โบราณคดีอิสลาม จากรัฐทวารวดี ศรีวิชัย ถึงอยุธยา ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2

Sunken Treasure: A Ninth Century Shipwreck

Tang Shipwreck

Secrets Of The Sea : A Tang Shipwreck & Early Trade In Asia