บทความเรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่ามุสลิมในยุคกลางมีบทบาทอย่างไรในการพัฒนาความรู้ทางดาราศาสตร์ และมีอิทธิพลอย่างไรบ้างต่อการพัฒนาศาสตร์ด้านนี้ของชาวยุโรปในเวลาต่อมา
ลักษณะสำคัญของการพัฒนาความรู้ทางดาราศาสตร์โดยมุสลิมในยุคกลางนั้นก็คือ

1. แรงจูงใจที่ทำให้มุสลิมศึกษาความรู้ทางดาราศาสตร์ มาจากความต้องการในการกำหนดเวลาและหาทิศทาง อันเนื่องมาจากความจำเป็นทางศาสนานั่นเอง

2. มีการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์เพื่อใช้พิสูจน์และอธิบายปรากฏการณ์ทางด้านดาราศาสตร์อย่างกว้างขวาง แยกตรีโกณมิติออกเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในวิชาคณิตศาสตร์ คิดค้นฟังก์ชันตรีโกณมิติจนครบทั้งหกฟังก์ชัน พัฒนาตรีโกณมิติทรงกลม นำไปสู่การบุกเบิกศึกษาดาราศาสตร์ทรงกลมท้องฟ้า (Spherical astronomy)

แบบจำลองทางคณิตศาสตร์แสดงการโคจรของดวงจันทร์ โดยอิบนุ อัชชาฏิร (มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1304 – 1375) 
ที่มาhttp://www.ccvalg.pt/astronomia/historia/idade_media.htm

3. ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ด้านอื่นๆ ให้เจริญขึ้นก็คือ การที่มุสลิมสามารถครอบครองดินแดนอันเคยเป็นอารยธรรมโบราณ อิสลามกำเนิดขึ้นในดินแดนที่อยู่ระหว่างอารยธรรมลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย อารยธรรมเปอร์เซีย กรีกและโรมันในซีเรียและอารยธรรมลุ่มน้ำไนล์ในอียิปต์ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สเปนจนถึงชายแดนจีนในเอเซียกลางและอินเดีย มีการนำตำราทางวิชาการแขนงต่างๆ ทั้งจากภาษากรีก สันสกฤต และซีรีแอคมาแปลเป็นภาษาอาหรับ ทำให้เกิดการผสมผสานวิทยาการด้านต่างๆของอารยธรรมที่ดับสูญไปก่อนหน้านั้นเข้าด้วยกัน

4. นักดาราศาสตร์มุสลิมวิพากษ์วิจารณ์และปรับปรุงทฤษฏีทางดาราศาสตร์ของกรีก โดยเฉพาะตำราอัลมาเจสต์ของทอเลมี (Ptolemy) ตลอดสมัยยุคกลาง แบบจำลองจักรวาลรุ่นท้ายๆของมุสลิมโดยเฉพาะของอิบนุ อัชชาฏิร มีอิทธิพลต่อแนวคิดของโคเปอร์นิคัส ที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติแนวคิดครั้งสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์

5. มีด้านสว่างก็มีด้านมืด ปฏิเสธไม่ได้ว่าพร้อมๆกับการพัฒนาความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ก็มีการศึกษาโหราศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย เป็นอิทธิพลที่โลกมุสลิมมาจากการแปลตำราของอารยธรรมยุคก่อนหน้า นักดาราศาสตร์มุสลิมที่มีชื่อหลายเสียงหลายคน ก็เป็นโหรด้วยเช่นกัน

นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งช่วงสมัยของประวัติดาราศาสตร์มุสลิมในยุคกลางออกเป็น 4 ช่วง คือ
1. ช่วงแห่งการเรียนรู้และผสมผสานความรู้ทางดาราศาสตร์ของกรีก โรมัน เปอร์เซีย อินเดียและอารยธรรมอื่นๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเข้าด้วยกัน อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 700-825
2. ระหว่างปี ค.ศ. 825-1025 เป็นช่วงที่แนวคิดของทอเลมีมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อนักดาราศาสตร์มุสลิม แต่มุสลิมศึกษาแนวคิดเหล่านี้โดยอาศัยจากการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และการประยุกต์ใช้คณิตาสตร์ในการอธิบาย
3. เป็นยุคที่ดาราศาสตร์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของมุสลิมปรากฏเด่นชัด นักดาราศาสตร์เริ่มค้นพบและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สมบูรณ์ของแนวคิดทางดาราศาสตร์ของทอเลมี และนำเสนอแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของตนเพื่อแทนแนวคิดของทอเลมี อยู่ระหว่าง ค.ศ. 1025-1450
4. ยุคตกต่ำ (ค.ศ. 1450-1900) แม้ความรู้ทางดาราศาสตร์ของมุสลิมจะยังคงมีการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านศาสนา แต่การคิดค้นใหม่ๆเริมหดหายและน้อยลง

ปัจจุบัน ประมาณว่ามีต้นฉบับตำราทางดาราศาสตร์ของมุสลิมกว่าหมื่นเล่ม ที่เขียนขึ้นในยุคกลางกระจัดกระจายอยู่ตามหอสมุดและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก

หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ อุลุกฆ์ เบค เมืองซะมัรคานด์ ประเทศอุเบกิสถานปัจจุบัน สร้างขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1420