○ สรุปสาระบทความ บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า
● เลื่อนงานรื่นเริงออกไปก่อน
กาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ในอียิปต์ ช่วงปี ฮ.ศ.749/ค.ศ.1348 ซึ่งเป็นที่รู้จักในยุโรปในนาม "Black Death-ความตายสีดำ"

อัลมักรีซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.845/ค.ศ.1441) กล่าวไว้ในหนังสือของเขา "อัสสุลูก ลิมะริฟะติล ดุวัลมุลูก- السلوك لمعرفة دول الملوك" ถึงผลทางสังคมของกาฬโรคว่า "งานเลี้ยงและงานมงคลสมรสถูกยกเลิก ไม่มีจัดงานมงคลสมรสในช่วงโรคระบาดนี้ ไม่มีเสียงร้องเพลง หลายๆที่ไม่มีเสียงอะซาน มัสยิดที่สำคัญๆ มีแค่เพียงเสียงอะซาน ไม่มีเสียงอิกอมะฮ์"
อิบนุตีฆรี บัรดีย์ นักประวัติศาสตร์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 872/ ค.ศ.1467 ) กล่าวในหนังสือของเขา "นุจูม ซาฮีเราะฮ์" เหมือนดังที่อัลมักรีซีย์ได้กล่าวไว้ และเสริมว่า "มัสยิดและศาสนสถานส่วนใหญ่ถูกปิด"
ในทางกลับกันหนังสือประวัติศาสตร์บันทึกการรับมือของผู้คนต่อโรคระบาดโดยการรวมตัวกันในมัสยิดและการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ"شفاء القلب المحزون في بيان ما يتعلق بالطاعون "ต้นฉบับเขียนด้วยมือ ของชัมสุดดีน มูฮัมหมัด บินอับดุลเราะห์มาน นักกฎหมายอิสลามและนักประวัติศาสตร์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.780/ค.ศ.1378 ) ที่กล่าวถึงกาฬโรคที่ระบาดครั้งใหญ่ ในปี ฮ.ศ.764/ ค.ศ.1362 ว่า"ผู้คนต่างมุ่งมั่นทำความดี ด้วยการละหมาดยามค่ำคืน ถือศีลอดตอนกลางวัน การบริจาค และการกลับใจ ดังนั้น เราจึงทิ้งบ้านและอยู่ประจำที่มัสยิด ทั้งผู้ชายเด็กและผู้หญิง"
ฮาฟิซ อิบนุหะจัร มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของกาฬโรคหลังจากมีการชุมนุม โดยเล่าในหนังสือ إنباء الغمر ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ.833/ค.ศ.1429 และหนึ่งในผู้มีอำนาจชื่อ ชีฮาบุดดีน อัลชะรีฟ ได้รวบรวมผู้สืบเชื้อสายมาจากนบีมุฮัมมัด 40 คน โดยทุกคนชื่อว่า มุฮัมมัด และได้มอบทรัพย์สินให้พวกเขา แล้วให้ทั้งหมดรวมตัวกันที่มัสยิดอัซฮัรและอ่านอัลกุรอานหลังจากละหมาดวันศุกร์ พอใกล้เวลาละหมาดอัศรีก็ส่งเสียงดุอาอ์กันอื้ออึง และผู้คนก็มาร่วมกับพวกเขาด้วย จากนั้น ทั้ง 40 คน ก็ขึ้นไปบนหลังคามัสยิดแล้วอาซานอัศรีพร้อมๆ กัน แล้วแยกย้ายกันกลับ ทั้งนี้เนื่องจากมีคนต่างชาติคนหนึ่งบอกว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้กาฬโรคหายไป แล้วอิบนุหะจัรก็ได้ให้ความเห็นในตอนท้ายว่า "เมื่อทำเช่นนั้น กาฬโรคก็ยิ่งระบาดเพิ่มขึ้น"
อิบนุหะจัร มีความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของกาฬโรคหลังจากผู้แสวงบุญกลับมาจากหิจาซ โดยอิบนุหะจัรได้กล่าวถึงกาฬโรคที่ระบาดในอียิปต์ ช่วงปี ฮ.ศ.848/ค.ศ. 1444 ที่มีคนตายราวๆ 100-200 คน ต่อมาก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการกลับมาของผู้แสวงบุญ ลูกๆและทาสของพวกเขาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีการกล่าวกันว่า ทุกวันมีคนตายเกิน 1,000 คน !! บางที การต้อนรับผู้แสวงบุญ รวมถึงการพบปะเยี่ยมเยียนผู้แสวงบุญและการสัมผัสกับพวกเขาที่มีผลอย่างสำคัญในการระบาดของกาฬโรค
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประหนึ่งที่อิบนุหะจัรกล่าวไว้ในหนังสือ إنباء الغمر ว่า นักกฎหมายอิสลามคนหนึ่งเห็นว่า การกักตัวอยู่ในบ้าน แม้ว่าจะแกล้งป่วย ก็เป็นวิธีการทำให้พ้นจากกาฬโรครูปแบบหนึ่ง ในขณะที่อิบนุหะจัร เล่าประวัติของอิบนุ อบีจะรอดะฮ์ ( เสียชีวิต ฮ.ศ.819/ ค.ศ.1416 )ผู้พิพากษาคนหนึ่ง ท่านเล่าประวัติพิศดารว่า "เมื่อกาฬโรคระบาดอย่างรุนแรงในปีนี้ ผู้พิพากษาท่านนี้ตื่นกลัวและกังวลมาก จึงได้หาทางป้องกันโดยการรับประทานยา การอ่านดุอาอ์และการปัดเป่า ตลอดจนการแกล้งป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมคนตาย หรือการละหมาดศพ เนื่องจากกลัวความตายอย่างยิ่ง อัลลอฮ์จึงให้เขาพ้นจากความตายเนื่องจากกาฬโรค"
● ภัยธรรมชาติคุกคาม
หลายครั้งที่ภัยธรรมชาติทำให้การละหมาดญามาอะฮ์ที่มัสยิดต้องงดไป รวมถึงมัสยิดหะรอม อัลอัซรอกีย์ ( เสียชีวิต ฮ.ศ.250/ค.ศ.864 ) กล่าวไว้ใน "อัคบาร มักกะฮ์" ว่า "น้ำท่วมอาจขยับแท่นมะกอมอิบรอฮีมออกจากตำแหน่งเดิม และอาจเคลื่อนย้ายมันไปยังหน้าของกะบะห์"
● ความขัดแย้งประเภทต่างๆ
การละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดต้องงดไปหลายครั้งในประวัติศาสตร์อิสลาม เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างศาสนา ระหว่างกลุ่มและระหว่างมัซฮับ บางทีเหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่น่าเกลียดที่สุดที่นำไปสู่การหยุดชะงักของศาสนาโดยอ้างทำเพื่อศาสนา ดังกรณีที่อิบนุกะษีรกล่าวถึงความวุ่นวายในกรุงแบกแดด ในหนังสือ "บิดายะฮ์วัลนิฮายะฮ์" ว่า ในปี ฮ.ศ.403/ค.ศ.1012 ที่มีการกระทบกระทั่งระหว่างมุสลิมและคริสต์ในแบกแดดจนต้องงดละหมาดวันศุกร์หลายวัน และระหว่างมุสลิมกับยิวในแบกแดด ในปี ฮ.ศ.573/ค.ศ.1177 ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างผู้ถือมัซฮับฮัมบะลีย์กับอะชาอิเราะฮ์ ในกรุงแบกแดด ทำให้ฝ่ายอะชาอิเราะห์ไม่สามารถละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ได้
อิบนุเญาซีย์กล่าวในหนังสือ "อัลมุนตะซิม" กรณีความขัดแย้งระหว่างสุนหนี่กับชีอะฮ์ ในเขตคอนตอเราะฮจะดีดะฮ์ กรุงแบกแดด ในปี ฮ.ศ.349/ค.ศ.960 จนต้องงดละหมาดวันศุกร์ในมัสยิดต่างๆ ในเขตนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว

covid19 6