El Ultimo Suspiro del Moro “สะอื้นสุดท้ายของพวกมัวร์” ชื่อที่คนในท้องถิ่นแถบนั้นเรียกเนินหินเตี้ยๆที่ครั้งหนึ่งเจ้าชายอาหรับยืนหันไปดูอาณาจักรของเขาเป็นครั้งสุดท้าย เนินแห่งนี้อยู่นอกเมืองเกรนาดา ทางภาคใต้ของสเปน

 

s1

ก่อนจะบอกที่มาของเนินเขาแห่งนี้ ก็ขอย้อนเรื่องซักนิดนะครับ ว่าประมาณปี ค.ศ. 1250 พื้นที่ส่วนใหญ่ของมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรียถูกพิชิตโดยกษัตริย์แห่งอะรากอน แคชตีลและโปรตุเกส มีเพียงเกรนาดาทางตอนใต้ที่มุสลิมยังสามารถครอบครองอยู่ต่อมาอีกประมาณ 250 ปี โดยอะมีรหรือสุลต่านวงศ์ "นัศรฺ" อาณาจักรเล็กๆนี้ก่อตัวขึ้นประมาณปี 1220-30 โดยมุฮัมมัด บิน ยูซุฟ บิน นัศรฺ อัลอัฮมัร ในช่วงที่อาณาจักรมุวะฮฺฮิดูนล่มสลาย เขาได้ปกครองเมืองเล็กๆชื่ออาร์โจนา ต่อมายึดเมืองเกรนาดาได้ และสถาปนาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร

อาณาจักรแห่งนี้ได้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมของอาหรับอันดาลูเซียให้เฟื่องฟูถึงจุดสูงสุดเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อัลฮัมบรา (มาจาก Al-qula’at al-hamra ในภาษาอาหรับแปลว่าวังสีแดง) เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยมีเทือกเขาเซียรา เนวาดา ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดและมีหิมะปกคลุมส่วนยอดตลอดทั้งปีเป็นฉากหลังอันงดงามให้ ขณะที่เบื้องล่างบริเวณเนินเขา คือ Albaycin ย่านชุมชนของเกรนาดา อัลฮัมบราเป็นพระราชวังที่มีทั้งป้อมประการ หอคอย มัสยิด สระน้ำ ตำหนัก ที่ทำการของบรรดาขุนนาง ที่พักรับรอง และสวน ที่ทั้งหมดมีการออกแบบให้มีคงามลงตัวระหว่างแสง สายน้ำและสายลม ประติมากรรมและการตกแต่งลวดลายที่ละเอียดอ่อนลงบนฝาผนัง มีการเล่นเงาและการสะท้อนของแสงที่งดงาม อิฐแดงที่ใช้ก่อสร้างทำให้อัลฮัมบราดูเป็นสีแดงฉานยามต้องแสงแดดยามบ่าย นั่นเป็นที่มาของชื่อพระราชวังแห่งนี้ มีกลอนยุคหลังเขียนถึงเกรนาดาว่า "ไม่มีความเจ็บปวดใดในชีวิตจะโหดร้ายไปกว่าต้องตาบอดในกรานาดา" บ่งบอกถึงความงามของพระราชวังแห่งนี้

พระราชวังอัลฮัมบรา

s2

s3

s4

s5

s9

ภูมิประเทศของเกรนาดาคล้ายคลึงกับดามัสกัส จึงเป็นดินแดนที่มีชาวอาหรับซีเรียและยิวจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคแรกๆแห่งการพิชิต ที่ตั้งของเมืองอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขาเซียรา เนวาดา มีที่ราบสูงแคบๆ และหน้าผาสูงชัน แม้จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดาร์โร จึงเป็นเมืองที่ง่ายต่อการป้องกัน เกรนาดากลายเป็นจุดหมายของมุสลิมจากดินแดนที่ถูกคริสเตียนยึดครองไป เป็นจุดดึงดูดของช่างฝีมือและจิตรกรจากที่ต่างๆ การค้าผ้าไหมกับอิตาลีที่เฟื่องฟูขึ้น ทำให้เกรนาดาเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดของสเปน อย่างไรก็ก็ตามความรุ่งเรืองและเฟื่องฟูของเกรนาดา เป็นประกายของความรุ่งโรจน์ครั้งสุดท้ายของอาหรับสเปน เพราะหลังจากนั้น เกรนาดาก็เข้าสู่ยุคตกต่ำ

สงครามระหว่างเกรนาดากับแคชตีลปะทุขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1405-10 เกรนาดาพบว่าตัวเองอยู่ในฐานะลำบาก เพราะตอนนั้นวงศ์มะรีนิยะห์ในโมรอคโคได้ล่มสลายไปโดยที่ยังไม่มีรัฐใดสืบอำนาจแทน โมรอคโคอยู่ในสภาพสุญญากาศทางการเมืองไปจนถึงคริสตวรรษที่ 16 เกรนาดาพยายามมองหาความช่วยเหลือจากทางตะวันออกไกลออกไป นั่นคืออียิปต์ มีการติดต่อกับผู้นำมัมลูกแห่งอียิปต์อย่างน้อยสามครั้งเพื่อขอให้ส่งกำลังสนับสนุน แต่ขณะนั้นอียิปต์เองก็มีปัญหาภายในของตน กิจกรรมทางทะเลของฝ่ายอาหรับในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหดหายไป ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองน่านน้ำย่านนั้นอีกต่อไป เปิดโอกาสให้โปรตุเกสเข้ายึดครองเมืองท่าซับตะห์ บนฝั่งโมรอคโค กลายเป็นผู้ควบคุมช่องแคบระหว่างอัฟริกาเหนือกับสเปน

ความขัดแย้งในหมู่ขุนนางตลอดคริสศวรรษที่ 15 ทำให้เกรนาดาอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด สินค้าที่สำคัญของเกรนาดาโดยเฉพาะผ้าไหม ถูกพ่อค้าเจนัวผูกขาด ทำให้ชาวเกรนาดาต้องยอมขายสินค้าที่ผลิตได้ในราคาต่ำ รวมถึงการที่บาเลนเซียและโปรตุเกสกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดการค้าเซรามิก การค้าที่ตกต่ำและการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ขุนนางซึ่งประกอบขึ้นมาจากผู้นำเผ่าต่างๆ ทำให้ชาวเกรนาดาถูกบังคับให้ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้นเพื่อนำมาใช้ในด้านการทหาร สร้างความลำบากและไม่พอใจให้กับประชาชน

การที่ออตโตมันพิชิตคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1452 เป็นตัวเร่งให้คริสเตียนสเปนหาทางพิชิตเกรนาดาโดยเร็ว การแต่งงานระหว่างกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 แห่งอะรากอน กับราชินีอิซซะเบลแห่งแคชตีล ทำให้ทั้งสองอาณาจักรรวมเป็นหนึ่งเดียวในปี ค.ศ. 1469 และอยู่ในฐานะพร้อมสำหรับภารกิจนี้ และเริ่มทำสงครามย่อยๆขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1455-58 โดยมีจุดประสงค์เพื่อยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ในเกรนาดา

ในช่วงนั้น การแย่งชิงอำนาจในเกรนาดาเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มุฮัมมัดที่ 8 ขึ้นเป็นอะมีรถึง 3 ครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1417-27, 1429-32 และ 1432-41 จากสภาพการเมืองที่ไม่มั่นคง เมื่อ อะลี อะบุลฮะซันซึ่งได้เป็นอะมีร (ค.ศ. 1461-82 และ 1483-5) เขาตัดสินใจไม่ยอมส่งส่วยแก่คริสเตียน และยังทำสงครามบุกเข้าไปในแคชตีล เฟอร์ดินานแก้แค้นด้วยการยึดอัลฮัมมาห์ ที่ตั้งอยู่เชิงเขาเซียรา เดอ อัลฮามา ปิดกั้นเส้นทางสู้เกรนาดาทางตะวันตกเฉียงใต้ไว้ ช่วงนั้นเอง อะบู อับดุลลอฮฺ มุฮัมหมัด (คริสเตียนเรียกเขาว่า โบอับดิล) ผู้เป็นลูก ก่อกบฏจากการยุยงของแม่ ยึดเมืองเกรนาดาไว้ได้ในปี ค.ศ. 1482 แต่ฝ่ายคริสเตียนก็โชคดีเหลือเกินที่สามารถจับตัวเขาไว้ได้ระหว่างการโจมตีเกรนาดาในปีต่อมา ทำให้อะบุล ฮะซัน ผู้เป็นพ่อ ได้กลับขึ้นเป็นอะมีรต่อมา แต่พอถึงปี ค.ศ. 1485 ได้มอบตำแหน่งอะมีรให้น้องชายที่ชื่อมุฮัมมัด อัซซะฆอล (ค.ศ. 1485-6) เฟอร์ดินานและอิซซะเบลไม่ยอมปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป ฝ่ายคริสเตียนสเปนปล่อยโบอับดิล และมอบทหารจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปแย่งชิงอำนาจจากมุฮัมมัด อัซซะฆอล ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น กองทัพของคริสเตียนก็ฉวยโอกาสบุกเข้ายึดเมืองสำคัญๆรอบเกรนาดาทีละเมือง รองดาตกเป็นของคริสเตียนในปี ค.ศ.1485 โลจาในปี ค.ศ. 1486 มาลากาในปี ค.ศ. 1487 บาซาในปี ค.ศ.1489 และอัลเมอเรียในปี ค.ศ. 1490 ในการรบใกล้เกรนาดา มุฮัมมัด อัซซะฆอล นำทัพต่อสู้เฟอร์ดินาน แต่เมื่อเห็นว่าไม่ประสบผลเพราะโบอับดิลอยู่ข้างเฟอร์ดินาน และคงไม่มีกองทัพจากอียิปต์มาช่วยเหลือแน่นอนแล้ว เขาจึงตัดสินใจยอมแพ้และลี้ภัยตัวเองไปอัฟริกาเหนือ

เฟอร์ดินานสั่งให้โบอับดิลเปิดประตูเมือง แต่ได้รับการปฏิเสธ กองทหารของเฟอร์ดินานจึงล้อมเมืองไว้อยู่นาน 8 เดือน เมื่อฤดูหนาวมาถึง ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทหารที่ป้องกันเมืองอยู่ตัดสินใจยอมแพ้ โดยขอให้โบอับดิลต่อรองกับเฟอร์ดินานว่ามุสลิมจะได้รับการคุ้มครองในความเชื่อและศาสนาของตน ทางฝ่ายคริสเตียนก็รับปาก ช่วงเวลาแห่งการต่อสู้สิ้นสุดลงโดยไม่มีสัญญาณใดๆบ่งบอกว่าความช่วยเหลือจากออตโตมันหรืออัฟริกาจะมาถึง ในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1492 กองทหารของเฟอร์ดินานก็เข้าสู่เกรนาดา นำเครื่องหมายกางเขนไปติดบนหอคอย โบอับดิลและมเหสีแต่งกายอย่างวิจิตรตระการตาก่อนเดินทางออกจากพระราชวังอัลฮัมบรา วังที่เขาไม่มีโอกาสได้กลับไปอีกเลย กล่าวกันว่า ขณะเดินทางออกจากเมือง โบอับดิลหลั่งน้ำตาออกมาตอนหันมามองดูอัลฮัมบราครั้งสุดท้าย ผู้เป็นแม่ได้กล่าวต่อว่าเขา “สมควรที่เจ้าจะร่ำไห้อย่างสตรี ในสื่งที่เจ้าไม่สามารถปกป้องได้อย่างชายชาตรี”

เนินหินที่โบอับดิลยืนมองไปยังพระราชวังอัลฮัมบราและร่ำไห้ดังกล่าว รู้จักกันในปัจจุบันว่า El Ultimo Suspiro del Moro ซึ่งแปลว่า “สัญลักษณ์สุดท้ายของพวกมัวร์”

s7

รูปจาก http://columnasdemexico.com/

s8

รูปจาก http://www.elindependientedegranada.es