หมุดแรก จะพาไปที่บริเวณคลองซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของคลังสินค้าและชุมชนพ่อค้าฮอลันดา
ในงานวิจัยภาคสนามของ Bougas เมื่อปี ค.ศ.1988 (2531) ระบุถึงคลองสายนี้ (ซึ่งทั้งตื้นเขินและบางส่วนถูกปรับเป็นพื้นที่นา) ได้รับการบอกต่อๆกันมาเรียกว่า “Kelang Belanda (Dutch Canal) เนื่องจากบริเวณริมคลองแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของคลังเก็บสินค้าและชุมชนพ่อค้าชาวดัตช์และอังกฤษ

 

Kelong3

Kelong2


ในอดีต การเดินเรือถูกกำหนดโดยฤดูกาลมมรสุม ช่วงที่เหมาะสมที่จะแล่นเรือจากชวามาปาตานีคือเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม แล้วเดินทางกลับในเดือนตุลาคม หลังตุลาคมถึงมกราคมเป็นช่วงมรสุม พ่อค้าจากภายนอกจำเป็นต้องพักรอลมก่อนเดินทางกลับไปได้ ทำให้ปาตานีกลายเป็นที่พักสินค้า มีพ่อค้าหลากหลายเชื้อชาติเดินทางมาค้าขายที่นี่

Kelong41

จาก Bougas, Wayne. Patani in the Beginning of the XVII Century. Archipel. Volume 39, 1990. pp. 118

ดัตช์หรือฮอลันดาเป็นชาวตะวันตกชาติที่สองที่เข้ามาค้าขายกับปาตานีต่อจากโปรตุเกส เดินทางถึงปาตานีในปี ค.ศ. 1601 สมัยราชินีฮิเญา นาย Van Neck พ่อค้ากลุ่มแรกได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกจากราชินี เขาหลงไหลในความรุ่งเรืองของการค้าในปาตานี สามารถรวบรวมสินค้าได้หลากหลายจำนวนมาก ราชินีก็รับปากที่จะคุ้มครองคนของดัตช์ในปาตานี เดือนสิงหาคมปีถัดมา Jacob van Heemskerrck พ่อค้าดัตช์ชุดที่สองก้มาถึง เริ่มก่อสร้างอาคารโรงเก็บสินค้า เป็นอาคารไม้และมีคูน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันไฟไหม้
จุดประสงค์ของดัตช์ที่ปาตานีก็คือเพื่อเป็นฐานในการค้าขายกับจีนและญี่ปุ่น (ตอนนั้นฮอลันดายังไม่สามารถตั้งสถานีสินค้าอื่นใดใกล้ๆจีนได้) แม้ไม่กี่ปีหลังจากนั้น ดัตช์จะติดต่อกับอยุธยาได้ แต่ก็พบว่าสินค้าจีนที่ขายในอยุธยาราคาสูงกว่าที่ปาตานี จึงให้ความสำคัญกับปาตานีเป็นลำดับต้นๆ คลังสินค้าของดัตช์ในอยุธยาถือเป็นคลังสินค้าย่อยของปาตานี และหัวหน้าสถานีสินค้าที่ปาตานีก็เป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าสถานีสินค้าที่อยุธยา สินค้าจีนบางส่วนที่ซื้อจากอยุธยาจะถูกส่งมาที่ปาตานีเพื่อรอแลกเปลี่ยนกับเรือสินค้าอื่นๆ พร้อมกัน
สินค้าพื้นเมืองของปาตานีที่ดัตช์ต้องการมีพริกไทย ขิง น้ำตาล และดีบุก ดัตช์สามารถกว้านซื้อได้ทั้งจากปาตานี สงขลาและนครศรีธรรมราช เครือข่ายการค้าและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ดัตช์ ปาตานีและอยุธยา เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะสามารถส่งถ่ายสินค้าระหว่างกันได้ ปีเตอร์ ฟลอริส พ่อค้าซึ่งแล่นเรือชื่อ The Globe ของอังกฤษมาเยือนปาตานี ระหว่างปี ค.ศ. 1612-13 กล่าวถึงเรื่องที่อังกฤษได้รับอนุญาตให้ทำการค้าและตั้งคลังสินค้า เหมือนที่ฮอลันดาเคยได้รับเมื่อสิบปีก่อนหน้านั้น เขายังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่คลังสินค้าของดัตช์ถูกพวกญี่ปุ่นเผาไปสองครั้ง และครั้งล่าสุดโดยทาสพวกชวา แต่พ่อค้าฮอลันดาก็ช่วยกันก่อสร้างโรงเก็บสินค้าขึ้นใหม่และทำการค้าที่ปาตานีต่อไป

Kelong5

Kelong6

Kelong1

ใต่อมา การแข่งขันทางการค้ากับดัตช์ระหว่างปาตานีกับเมืองท่าอื่นๆ อันได้แก่สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่ความขัดแย้ง นี่อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปาตานีไม่ยอมส่งบรรณาการให้อยุธยา และยังโจมตีสงขลาและนครศรีธรรมราชในช่วง ค.ศ. 1630 ความขัดแย้งนี้กระทบต่อเส้นทางการค้าของดัตช์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หลังจากที่ดัตช์สามารถตั้งฐานอยู่ในหมู่เกาะใกล้มาเก๊า ทำให้การติดต่อกับจีนโดยตรงง่ายขึ้น จึงปิดสถานีสินค้าที่ปาตานีในปี ค.ศ.1622 แม้จะยังมีความต้องการพริกไทยจากปาตานีอยู่ แต่ก็สามารถส่งเรือมาซื้อปีต่อปีได้โดยไม่ต้องมีโรงเก็บสินค้า และเมื่อดัตช์สามารถควบคุมมะละกาในปี ค.ศ. 1641 ก็ไม่มีความจําเป็นต้องติดต่อค้าขายกับปาตานีอีกต่อไป การค้าระหว่างกันจึงยุติลงนับแต่นั้น

Kelong8 

ภาพวาด เรือสินค้าดัตช์มาถึงปาตานี จาก Theodor de Bry and his sons. Achter Theil Der Orientalischen Indien :Les Petit Voyages Part VIII. A collection of five Dutch voyages to the East Indies, 1600-1606, including trips to China and the Spice Islands. หน้า 132 

 


ปล. ข้อมูลการค้ากับปาตานีปรากฏอยู่ในบันทึกของฮอลันดาหลายแห่ง ที่ตรงๆเลยก็คือหนังสือ De factorij der Oostindische Compagnie te Patani (The Factory of the Dutch East India Company at Patani)  แต่เมื่อเปิดได้แค่หน้าสองหน้าก็น้ำตาจะไหล...... แปลไม่ออก มันเป็นภาษาดัตช์ ได้แต่อ่านจากหนังสือเล่มอื่นที่เขาอ้างอิงบางข้อความจากเล่มนี้อีกที
ส่วนงานวิจัยของ Bougas ก็ดูได้จากลิงค์นี่เลย
Bougas, Wayne. Patani in the Beginning of the XVII Century. Archipel. Volume 39, 1990. pp. 113-138.

ที่เหลือ ก็ไปหาในกูเกิ้ล ลุงตู่บอกไว้