ประมาณปี ค.ศ. 1250 พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรไอบีเรียตกอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งอะรากอน แคชตีลและโปรตุเกส มีเพียงเกรนาดาและดินแดนโดยรอบทางตอนใต้ที่มุสลิมยังสามารถครอบครองอยู่ต่อมาอีกประมาณ 250 ปี 
โดยอะมีรวงศ์นัศรฺ อาณาจักรเล็กๆนี้ก่อตัวขึ้นประมาณปี 1220-30 โดยมุฮัมมัด บิน ยูซุฟ บิน นัศรฺ อัลอัฮมัร ผู้สืบเชื้อสายมาจากเผ่าคอซรอจแห่งนครมะดีนะห์ ตอนที่อำนาจของมุวะฮฺฮิดูนล่มสลาย เขาได้ปกครองเมืองเล็กๆชื่ออาร์โจนา ต่อมาเขายึดเมืองเกรนาดาได้ และเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรที่สถาปนาขึ้น
ตอนนั้นมุฮัมมัดเป็นพันธมิตรกับแคชตีลในการทำสงครามกับ อิบนุ ฮูด แต่เมื่ออ่อนกำลังลง แคชตีลก็หันมาทำสงครามกับมุฮัมมัด แคชตีลยึดอาร์โจนาและล้อมจาเอนไว้ อย่างไม่มีใครคาดคิด มุฮัมมัดขอเข้าพบเฟอร์ดินาน กษัตริย์แห่งแคชตีล เพื่อขอสวามิภักดิ์โดยตกลงจะยอมจ่ายส่วย ยกเมืองจาเอนและส่งทหารไปช่วยแคชตีลล้อมเซวิลล์ มุฮัมมัดเป็นพันธมิตรกับแคชตีลจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1273 มุฮัมมัดที่ 2 อัลฟะกีฮฺ ลูกชายที่ได้เป็นอะมีรคนต่อมา (ค.ศ. 1273-1302) หันไปร่วมมือกับอะมีรอะบู ยูซุฟ ยะอฺกูบ แห่งมะรีนิยะห์ อาณาจักรที่สืบทอดอำนาจของมุวะฮฺฮิดูนในโมรอคโค ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1261 ได้นำกองทัพข้ามจากอัฟริกามาด้วยตนเอง มุฮัมมัดมอบเมืองรอนดาให้เป็นฐานปฏิบัติการ กองทัพนี้ได้โจมตีอูเบดา เบอิซา และในการรบที่เอจิซา สามารถเอาชนะและสังหารดอน นูโน กอนกาเลส แม่ทัพที่มีชื่อเสียงของแคชตีลได้ ขณะเดียวกันกองทัพแคชตีลที่นำโดยอาร์คบิชอบแห่งโทเลโดก็พ่ายแพ้แก่กองทัพของเกรนาดาที่มาร์ทอส อัลฟองโซที่ 10 ที่ได้เป็นกษัตริย์แคชตีลต่อจากเฟอร์ดินานที่ 3 พยายามรักษาสถานการณ์ด้วยการล้อมเมืองอัลเจซิราสไว้ แต่กองเรือของแคชตีลที่มคุมเชิงช่องแคบญิบรอลต้ากลับต้องถอยร่นเมื่อเผชิญกับกองเรือของมารีนิยะห์ ทำให้อัลฟองโซต้องเลิกทัพกลับไปในที่สุด
 
คาบสมุทรไอบีเรียในคริสตวรรษที่ 15

ชัยยชนะครั้งนี้ ทำให้มุฮัมมัดเริ่มหวาดระแวงอิทธิพลของมะรีนิยะห์ในสเปน จึงเจรจาอย่างลับๆกับแคชตีลและอะมีรวงศ์ซัยยานิยะห์แห่งทเลมซานในอัลจีเรียเพื่อร่วมกันต่อสู้กับมะรีนิยะห์ แต่สถานการณ์กลับพลิกผันเมื่อซานโจ ลูกชายของอัลฟองโซที่ 10 ก่อกบฏต่อบิดา จนอัลฟองโซต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากมะรีนิยะห์ ปี ค.ศ. 1282 อะบู ยะอฺกูบ ยูซุฟนำทัพมายังสเปนอีกครั้ง โจมตีคอร์โดบา เดินทัพผ่านบาเอซาและอูเบดา และกลับไปยังโมรอคโคพร้อมทรัพย์สินและเชลยจำนวนมาก ฤดูใบไม้ผลิของปี 1285 เขากลับไปยังสเปนอีกครั้ง แต่คราวนี้ ซานโจที่ 4 กษัตริย์คนใหม่แห่งแคชตีลตัดสินใจเจรจากับเขาที่เจเรส ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาสงบศึก
ทางเกรนาดาเองพยายามถ่วงดุลอำนาจระหว่างมุสลิมกับอัฟริกากับคริสเตียนสเปน เมื่อใดที่เกรนาดาถูกคริสเตียนรุกราน อะมีรก็จะขอความช่วยเหลือจากมะรีนิยะห์ แต่เมื่อเห็นว่าอำนาจของฝ่ายหลังมีมากเกินไป จนเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อบัลลังก์ของตน อะมีรก็จะหันไปคืนดีกับรัฐคริสเตียน แม้แต่การดำรงความสัมพันธ์กับรัฐคริสเตียน อะมีรจะพยายามถ่วงดุลระหว่างอะรากอนกับแคชตีล หรือแม้แต่ยอมให้คาตาโลเนียและเจนัวเข้ามามีบทบาท ที่สำคัญ อะมีรที่มีความสามารถพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่ให้ศัตรูรอบข้างอาศัยประโยชน์จากสภาพการเมืองภายในของเกรนาดา ที่เป็นเพียงการรวมตัวกันอย่างหลวมๆของชนเผ่าและตระกูลต่างๆ ชุมชนต่างๆที่อยู่เมืองใหญ่ๆอย่างเกรนาดา อัลเมอเรีย และมาลากา ล้วนแต่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำท้องถิ่น บทบาทของอะมีรคือพยายามประสานผลประโยชน์ของผู้นำเหล่านี้ ซึ่งเกรนาดาก็ทำได้ดีตลอดคริสตวรรษที่ 14 นอกจากนี้แล้ว อะมีรแห่งเกนาดาหลายคนได้สร้างระบบเครือข่ายป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ตลอดชายแดนทิศเหนือและตะวันตกมีประสาทโดยเฉลี่ยห่างกัน 5-6 ไมล์ ส่วนใหญ่สร้างในสมัยอะมีรมุฮัมมัดที่ 2 นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นอิบนุล เคาะฏีบ(เสียชีวิต ค.ศ. 1375) บันทึกไว้ว่าทั่วอาณาจักรมีหอคอย ป้อมประสาทอยู่ถึง 14,000 แห่ง หลายแห่งยังคงปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน กองทหารของเกรนาดาประกอบด้วยทหารรับจ้างที่ชำนาญการรบ ส่วนใหญ่เป็นทหารม้าเผ่าซะนาตะห์จากโมรอคโค ดอน จวน มานูเอล หลานชายของกษัตริย์อัลฟองโซที่ 10 กล่าวถึงทหารของเกรนาดาใน Libro de las Estrados เขียนขึ้นระหว่างปี 1328-30 ยกย่องถึงความสามารถในการเคลื่อนที่เร็วของทหารม้าของมัวร์ และว่าหากจะต่อสู้กับทหารม้าของพวกมัวร์ 200 คน ฝ่ายคริสเตียนต้องใช้ถึง 600 คน

อะบุลวะลีด อิสมาอีลขึ้นเป็นอะมีรในปี ค.ศ. 1314 เขาทำสงครามเอาชนะแคชตีล ยึดป้อมฮูเอสการ์ ออร์ค กาเลร่า และมาร์ทอส แต่เขาถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1325 ความวุ่นวายทางการเมืองปรากฏเห็นเด่นชัดและเกิดขึ้นเป็นระยะๆ อะมีรสองคนต่อมา คือ มุฮัมมัดที่ 4 (ค.ศ. 1325-1333) และอะบุล ฮัญญาจ ยูซุฟที่ 1 (ค.ศ. 1333-1354) ต่างถูกลอบสังหารจากศัตรูทางการเมือง ในสมัยของอะบุ ฮัญญาจ ได้เกิดสงครามระหว่างเกรนาดากับแคชตีล ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือจากมะรีนิยะห์ แต่ทัพที่ส่งมาช่วยประสบความพ่ายแพ้ในการรบครั้งสำคัญที่ซาลาโด ในปี ค.ศ. 1340 จนอะมีรอะบุล ฮะซันแห่งมะรีนิยะห์ตัดสินใจถอนทัพกลับโมรอคโค และยุติปฏิบัติการทางทหารของมะรีนิยะห์ในสเปนลงโดยสิ้นเชิง หลังจากทหารแคชตีลตีป้อมอัลคาลา เดอ เรียลและรูดาได้แล้ว เมืองอัลเจซิราสก็ตกเป็นของแคชตีล ในปี ค.ศ. 1344 ดูเหมือนว่าเกรนาดาจะตกเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำในเกมส์แห่งการรักษาดุลอำนาจ แต่แล้ว ขณะที่แคชตีลกำลังล้อมญิบรอลต้าในปี ค.ศ. 1349 อยู่นั้น โรคระบาดก็เกิดขึ้นในกองทัพของแคชตีล กษัตริย์อัลฟองโซที่ 11 ก็เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้ในปีถัดมา การปิดล้อมจึงยุติลง เกรนาดาในช่วงครึ่งหลังของคริสตวรรษที่ 14 เป็นช่วงที่สงบที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่ง ความขัดแย้งในหมู่ขุนนางของแคชตีล สงครามระหว่างแคชตีล อะรากอนและโปรตุเกส และการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่าสงครามร้อยปี ทำให้เกรนาดาคงอยู่อย่างปลอดภัยจนถึงต้นคริสตวรรษที่ 15 มีการกระทบกระทั่งอยู่บ้างในปี ค.ศ. 1394 เมื่อแม่ทัพทหารอัลกันตะเราะห์ของแคชตีลละเมิดสัญญาสันติภาพด้วยการโจมตีชายแดนของเกรนาดาโดยลำพัง แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้และถูกสังหารในการรบ อีกครั้งในปี ค.ศ. 1397 เมื่อบาทหลวงฝรั่งเศสถูกประหารชีวิตในข้อหาพยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์อย่างเปิดเผยในเกรนาดา แต่โดยทั่วไปแล้ว แนวรบของทั้งสองฝ่ายค่อนข้างสงบทีเดียว


พระราชวัง Alhambra







ภายในพระราชวังอัลฮัมบรา

ช่วงเวลาการปกครองอันยาวนานของอะมีรมุฮัมมัดที่ 5 (ค.ศ. 1354-59, 1362-91) เป็นช่วงที่สถาปัตยกรรมของอาหรับอันดาลูเซียเฟื่องฟูถึงจุดสูงสุดเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อัลฮัมบรา (มาจาก Al-qula’at al-hamra ในภาษาอาหรับแปลว่าวังสีแดง) เป็นพระราชวังที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยมีเทือกเขาเซียรา เนวาดา ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดและมีหิมะปกคลุมส่วนยอดตลอดทั้งปีเป็นฉากหลังอันงดงามให้ ขณะที่เบื้องล่างบริเวณเนินเขา คือ Albaycin ย่านชุมชนของเกรนาดา เป็นพระราชวังที่มีทั้งป้อมประการ หอคอย มัสยิด สระน้ำ ตำหนัก ที่ทำการของบรรดาขุนนาง ที่พักรับรอง และสวน ที่ทั้งหมดมีการออกแบบให้มีคงามลงตัวระหว่างแสง สายน้ำและสายลม ประติมากรรมและการตกแต่งลวดลายที่ละเอียดอ่อนลงบนฝาผนัง มีการเล่นเงาและการสะท้อนของแสงที่งดงาม อิฐแดงที่ใช้ก่อสร้างทำให้อัลฮัมบราดูเป็นสีแดงฉานยามต้องแสงแดดยามบ่าย นั่นเป็นที่มาของชื่อพระราชวังแห่งนี้ นอกจากพระราชวังแห่งนี้แล้ว ยังมีการสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่ง (Madrasa) ในปี ค.ศ. 1349 และโรงพยาบาลโรคจิต (maristan) สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1365-7

ภูมิประเทศของเกรนาดาคล้ายคลึงกับดามัสกัส จึงเป็นดินแดนที่มีชาวอาหรับซีเรียและยิวจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคแรกๆแห่งการพิชิต ที่ตั้งของเมืองอยู่ทางตะวันออกของเทือกเขาเซียรา เนวาดา มีที่ราบสูงแคบๆ และหน้าผาสูงชัน แม้จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดาร์โร จึงเป็นเมืองที่ง่ายต่อการป้องกัน เกรนาดากลายเป็นจุดหมายของมุสลิมจากดินแดนที่ถูกคริสเตียนยึดครองไป เป็นจุดดึงดูดของช่างฝีมือและจิตรกรจากที่ต่างๆ การค้าผ้าไหมกับอิตาลีที่เฟื่องฟูขึ้น ทำให้เกรนาดาเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดของสเปน อย่างไรก็ก็ตามความรุ่งเรืองและเฟื่องฟูของเกรนาดา เป็นประกายของความรุ่งโรจน์ครั้งสุดท้ายของมุสลิมสเปน เพราะหลังจากนั้น เกรนาดาก็เข้าสู่ยุคตกต่ำและเสียเมืองให้แก่คริสเตียนสเปนในที่สุด

สงครามระหว่างเกรนาดากับแคชตีลปะทุขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1405-10 คราวนี้เกรนาดาต้องสูญเสียอันติเควรา เมืองยุทธศาสตร์สำคัญไป เกรนาดาพบว่าตัวเองอยู่ในฐานะลำบาก เพราะตอนนั้นวงศ์มะรีนิยะห์ในโมรอคโคได้ล่มสลายไปโดยที่ยังไม่มีรัฐใดสืบอำนาจแทน โมรอคโคอยู่ในสภาพสุญญากาศทางการเมืองไปจนถึงคริสตวรรษที่ 16 เกรนาดาพยายามมองหาความช่วยเหลือจากทางตะวันออกไกลออกไป นั่นคืออียิปต์ มีการติดต่อกับผู้นำมัมลูกแห่งอียิปต์อย่างน้อยสามครั้งเพื่อขอให้ส่งกำลังสนับสนุน แต่ขณะนั้นอียิปต์เองก็มีปัญหาภายในของตน กิจกรรมทางทะเลของฝ่ายอาหรับในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนลดหายไป ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองน่านน้ำย่านนั้นอีกต่อไป เปิดโอกาสให้โปรตุเกสเข้ายึดครองเมืองท่าซับตะห์ บนฝั่งโมรอคโค กลายเป็นผู้ควบคุมช่องแคบระหว่างอัฟริกาเหนือกับสเปน

ความขัดแย้งในหมู่ขุนนางตลอดคริสศวรรษที่ 15 ทำให้เกรนาดาอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด สินค้าที่สำคัญของเกรนาดาโดยเฉพาะผ้าไหม ถูกพ่อค้าเจนัวผูกขาด ทำให้ชาวเกรนาดาต้องยอมขายสินค้าที่ผลิตได้ในราคาต่ำ รวมถึงวาเลนเซียและโปรตุเกสก็กลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดการค้าเซรามิก การค้าที่ตกต่ำและการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ขุนนางซึ่งประกอบขึ้นมาจากผู้นำเผ่าต่างๆ ทำให้ชาวเกรนาดาถูกบังคับให้ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น เพื่อนำมาใช้ในด้านการทหาร สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่พอใจ

การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของอุสมานิยะห์(หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ออตโตมัน เตอร์ก)ในปี ค.ศ. 1452 เป็นตัวเร่งให้คริสเตียนเห็นถึงความจำเป็นในการพิชิตเกรนาดาโดยเร็ว การแต่งงานระหว่างกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ 3 แห่งอะรากอน กับราชินีอิซซะเบลแห่งแคชตีล ทำให้ทั้งสองอาณาจักรรวมเป็นหนึ่งเดียวในปี ค.ศ. 1469 และอยู่ในฐานะพร้อมสำหรับภารกิจนี้ และเริ่มทำสงครามย่อยๆขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1455-58 โดยมีจุดประสงค์เพื่อยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ในเกรนาดา

ในช่วงนั้น การแย่งชิงอำนาจในเกรนาดาเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มุฮัมมัดที่ 8 ขึ้นเป็นอะมีรถึง 3 ครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1417-27, 1429-32 และ 1432-41 จากสภาพการเมืองที่ไม่มั่นคง เมื่อ อะลี อะบุลฮะซันซึ่งได้เป็นอะมีร (ค.ศ. 1461-82 และ 1483-5) เขาตัดสินใจไม่ยอมส่งส่วยแก่คริสเตียน และยังทำสงครามบุกเข้าไปในแคชตีล เฟอร์ดินานแก้แค้นด้วยการยึดอัลฮัมมาห์ ที่ตั้งอยู่เชิงเขาเซียรา เดอ อัลฮามา ปิดกั้นเส้นทางสู้เกรนาดาทางตะวันตกเฉียงใต้ไว้ ช่วงนั้นเอง อะบู อับดุลลอฮฺ มุฮัมหมัด (คริสเตียนเรียกเขาว่า โบอับดิล) ผู้เป็นลูก ก่อกบฏจากการยุยงของแม่ ยึดเมืองเกรนาดาไว้ได้ในปี ค.ศ. 1482 แต่ฝ่ายคริสเตียนก็โชคดีเหลือเกินที่สามารถจับตัวเขาไว้ได้ระหว่างการโจมตีเกรนาดาในปีต่อมา ทำให้อะบุล ฮะซัน ผู้เป็นพ่อ ได้กลับขึ้นเป็นอะมีรต่อมา แต่พอถึงปี ค.ศ. 1485 ได้มอบตำแหน่งอะมีรให้น้องชายที่ชื่อมุฮัมมัด อัซซะฆอล (ค.ศ. 1485-6) เฟอร์ดินานและอิซซะเบลไม่ยอมปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป ฝ่ายคริสเตียนสเปนปล่อยโบอับดิล พร้อมมอบทหารจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปแย่งชิงอำนาจจากมุฮัมมัด อัซซะฆอล ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ขณะที่กองทัพของคริสเตียนบุกเข้ายึดสำคัญๆรอบเกรนาดาทีละเมือง รองดาตกเป็นของคริสเตียนในปี ค.ศ.1485 โลจาในปี ค.ศ. 1486 มาลากาในปี ค.ศ. 1487 บาซาในปี ค.ศ.1489 และอัลเมอเรียในปี ค.ศ. 1490 ชาวเมืองมาลากากว่า 8,000 คน ถูกจับไปขายเป็นทาส เนื่องจากต่อต้านทหารคริสเตียนสเปนอย่างดุเดือด ในการรบรอบเกรนาดา มุฮัมมัด อัซซะฆอล นำทัพต่อสู้เฟอร์ดินาน แต่เมื่อเห็นว่าไม่ประสบผลเพราะโบอับดิลอยู่ข้างเฟอร์ดินาน และคงไม่มีกองทัพจากอียิปต์มาช่วยเหลือแน่นอนแล้ว เขาจึงตัดสินใจยอมแพ้และลี้ภัยไปอัฟริกาเหนือ

ในไม่ช้า เฟอร์ดินานก็สั่งให้โบอับดิลยอมแพ้ และให้สละเมืองเกรนดา แต่โบอับดิลปฏิเสธ กองทหารของเฟอร์ดินานจึงล้อมเมืองไว้อยู่นาน 8 เดือน อัลมักกะรีย์ นักประวัติศาสตร์บันทึกสภาพของเมืองในช่วงที่ถูกปิดล้อมไว้ว่า

“เมื่อฤดูหนาวมาถึง พร้อมกับอากาศที่เยือกเย็น หิมะตกหนัก เส้นทางเข้าเมืองถูกปิด อาหารขาดแคลนและสินค้าราคาสูงขึ้น ความทุกข์ยากเกิดขึ้นไปทั่ว ตอนนั้นศัตรูปิดล้อมอยู่นอกเมือง ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถทำการเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวพืชผลได้ สภาพที่ย่ำแย่เลวร้ายลงทุกวัน จนกระทั่งในเดือนเศาะฟัรของปีดังกล่าว (ธันวาคม ค.ศ. 1491) ความเดือดร้อนของผู้คนก็มาถึงจุดที่ไม่อาจจะทนต่อไปได้แล้ว”




ทหารที่ป้องกันเมืองอยู่ตัดสินใจยอมแพ้ โดยขอให้โบอับดิลต่อรองกับเฟอร์ดินานว่ามุสลิมจะได้รับการคุ้มครองในความเชื่อและศาสนาของตน ซึ่งทางฝ่ายคริสเตียนก็ยอมรับ ช่วงเวลาแห่งการต่อสู้สิ้นสุดลงโดยไม่มีสัญญาณใดๆบ่งบอกว่าความช่วยเหลือจากอุสมานิยะห์หรืออัฟริกาจะมาถึง ในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1492 กองทหารของเฟอร์ดินานก็เข้าสู่เกรนาดา นำเครื่องหมายกางเขนไปติดบนหอคอย โบอับดิลและมเหสีแต่งกายอย่างวิจิตรตระการตาก่อนเดินทางออกจากพระราชวังอัลฮัมบรา วังที่เขาไม่มีโอกาสได้กลับไปอีกเลย กล่าวกันว่า ขณะเดินทางออกจากเมือง โบอับดิลหลั่งน้ำตาออกมาตอนหันมามองดูอัลฮัมบราครั้งสุดท้าย ผู้เป็นแม่ได้กล่าวต่อว่าเขา “สมควรที่เจ้าจะร่ำไห้อย่างสตรี ในสื่งที่เจ้าไม่สามารถปกป้องได้อย่างชายชาตรี” เนินหินที่โบอับดิลยืนร่ำไห้ดังกล่าว รู้จักกันในปัจจุบันว่า El Ultimo Suspiro del Moro ซึ่งแปลว่า “สะอื้นสุดท้ายของพวกมัวร์”

-------------------------------------------------------------------------

เรื่องที่เกี่ยวข้อง