การเข้ามาของมุรอบิฏูน
พวกมุรอบิฏูน เป็นชาวเบอร์เบอร์ที่เริ่มมีอำนาจในโมรอคโคประมาณกลางคริสศตวรรษที่ 11 จากจุดกำเนิดในบริเวณเซเนกัลตอนล่าง ยูซุฟ บิน ตะชุฟิน (ค.ศ. 1061-1106) หนึ่งในผู้ก่อตั้งอาณาจักรแห่งนี้ได้ก่อสร้างเมืองมะรอกิช (ที่มาของชื่อโมรอคโค) เพื่อเป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. 1062 
map 1030
 
ภายหลังที่ทูตของอัลมุอฺตะมิดเข้าพบเพื่อขอความช่วยเหลือในปี ค.ศ. 1086 เขานำกองทัพ 3,000 คน ข้ามไปขึ้นฝั่งที่อัลเจซิราส ในวันที่ 23 ตุลาคม ของปีนั้น กองทัพชุดดำชาวเบอร์เบอร์ของเขาสมทบด้วยทหารของเซวิลล์และเกรนาดา เผชิญหน้ากับทหารของอัลฟองโซที่สมรภูมิซัลลาเกาะห์ (Sacralias ฟรือ Sagrajas ในปัจจุบัน) บนฝั่งแม่น้ำกัวเดียนา(วะดี อะนา)ใกล้กับบาดาโจส การรบจบลงด้วยชัยชนะของยูซุฟ ปรากฏว่าอัลฟองโซหนีไปได้พร้อมทหารที่รอดชีวิตเพียง 300 คน นับเป็นสมรภูมิครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างมุสลิม-คริสเตียนในสเปน อย่างไรก็ตาม หลังสงครามยุซุฟตัดสินใจเดินทางกลับอัฟริกา

ปี ค.ศ.1088 เขาข้ามไปยังสเปนอีกครั้ง เพื่อยึดประสาทอเลโดที่อัลฟองโซใช้เป็นฐานที่มั่นในการควบคุมบรรดารัฐมุสลิม เขาเริ่มหมดความอดทนกับพฤติกรรมกลับกลอกของบรรดาผ้นำรัฐมุสลิมที่มักขอความช่วยเหลือจากรัฐคริสเตียนในการแย่งชิงอำนาจกันเอง ยูรุฟจึงตัดสินใจที่จะยึดอำนาจของบรรดารัฐมุสลิมเหล่านั้นทั้งหมดในการเดินทัพข้ามไปยังสเปนครั้งที่สามของเขา ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1091 ยูซุฟยึดคอร์โดบา เซวิลล์และเกรนาดาได้ อีก 2 ปีต่อมา บาดาโจสที่เป็นพันธมิตรกับอัลฟองโซก็ถูกทำลาย กษัตริย์อุมัรและลูกชายทั้งสองแห่งวงศ์อัฟฏอซิยะห์ที่ปกครองรัฐนี้อยู่ถูกประหารชีวิต ที่วาเลนเซีย เอลซิดสามารถต่อต้านการโจมตีของยุซุฟได้ แต่เมื่อเขาตายไปในปี ค.ศ. 1099 พวกเบอร์เบอร์ก็ยึดเมืองนี้ได้ในปีต่อมา ยูซุฟเสียชีวิตในปี ค.ศ.1106 อะลี ผู้เป็นลูกชายได้สืบตำแหน่งต่อ และสานต่อนโยบายของผู้เป็นพ่อ อัลฟองโซ ผู้ซึ่งประกาศตนเป็น “จักรพรรดิแห่งชนสองศาสนา” ตกอยู่ในฐานะลำบาก เขาได้ใช้ฐานะของซานโจ ลูกชายที่เกิดจากภรรยาม่ายของลูกชายอัลมุอฺตะมิด เพื่อแสวงหาความภักดีจากมุสลิมสเปน อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1108 เด็กหนุ่มผู้นี้ก็เสียชีวิตในการรบที่อุเคลส (Ucles) หนึ่งปีก่อนการเสียชีวิตของอัลฟองโซ ค.ศ. 1115 มุรอบิฏูนยึดเกาะต่างๆในหมู่เกาะบาเลียริคไปได้ แต่ในการล้อมโคอิมบราในปี ค.ศ. 1117 ไม่ประสบความสำเร็จ



มุรอบิฏูนในสเปน ค.ศ. 1102

หลังพ่ายแพ้ในการรบที่คัลเลราในปี ค.ศ. 1129 ทำให้เขาต้องตัดสินใจส่งตาชุฟิน ผู้เป็นลูกชายไปเป็นผู้ว่าการเกรนาดาและอัลเมอเรีย เพื่อต้านทานการรุกรานของผู้นำคริสเตียนคนใหม่ คืออัลฟองโซที่ 7 แห่งแคชตีล และอัลฟองโซที่ 1 แห่งอะรากอน ตาชุฟินกลายเป็นผู้นำคนสุดท้ายของพวกมุรอบิฏูน ก่อนที่อาณาจักรแห่งนี้จะล่มสลายในปี ค.ศ. 1143
ความสำเร็จของพวกมุรอบิฏูน ก็คือสามารถสร้างความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในหมู่มุสลิมสเปนได้อีกครั้ง กอบกู้เมืองสำคัญๆส่วนใหญ่ไว้ได้ ยกเว้นเฉพาะโทเลโดที่กลายเป็นเมืองหลวงของแคชตีล และเมืองซาราโกซาที่ปกครองโดยวงศ์ฮูดและถูกคริสเตียนยึดไปในปี ค.ศ. 1118 แต่นั่นเป็นเพียงยืดเวลาการคงอยู่ของมุสลิมในสเปนออกไปเท่านั้น หลังการล่มสลายของมุรอบิฏูน มุสลิมสเปนก็แตกเป็นนครรัฐเล็กๆอีกครั้ง และเปิดโอกาสให้กับการรุกรบครั้งใหม่ของรัฐคริสเตียนตอนเหนือ

อิบนุ คอลดูน (มีชีวิตระหว่างปี ค.ศ. 1332-1406 ) นักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงในคริสตวรรษที่ 14 ได้ใช้ทฤษฎีทางสังคมอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม โดยมีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เขาอธิบายว่า มันคือวัฎจักรระหว่างพัฒนาการทางสังคมของผู้คนที่มาจากทะเลทรายสู่ระบบสังคมเมือง ความรู้สึกร่วมกันของผู้คนในสังคม (Asabiyah) อันมีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาและความผูกพันที่มีต่อชนเผ่า เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ตระกูลหรือเผ่าที่มีบทบาทในสังคมก่อตั้งราชวงศ์ของพวกตนขึ้น รัฐใหม่ที่เกิดขึ้นมีความเข้มแข็งและสร้างอาณาจักรอันกว้างใหญ่ขึ้น กลายเป็นชุมชนเมือง ที่ซึ่งพวกเขาจะได้รับแรงงานจำนวนมากเพื่อการผลิตสิ่งฟุ่มเฟือยและใช้ในการอุปถัมภ์ศิลปะวิทยาการ เป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดอารยธรรมและความเจริญขึ้น แต่สภาพการณ์และบรรยาการใหม่ดังกล่าว ทำให้ความเข้มแข็งของชนเผ่าทะเลทรายจางหายไป ความลุ่มหลงกับอารยธรรมที่สูงส่ง ทำให้ลืมความรู้สึกร่วมที่เคยมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น กลายเป็นการแย่งชิงและความแตกแยก ในที่สุดก็ต้องเสียอำนาจให้กับชนทะเลทรายกลุ่มอื่นที่มาใหม่ กลายเป็นวัฎจักรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ อิบนุ คอลดูนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกวิชาสังคมวิทยาขึ้นในยุคกลาง

พัฒนาการของพวกมุรอบิฏูนไม่ได้แตกต่างจากที่อิบนุ คอลดูน อธิบายมากนัก มีพื้นฐานมาจากการรวมตัวของชนเผ่าซานฮาญะห์ ที่ยอมรับแนวคิดตามแนวทางของมัซฮับมาลิกีย์ สำนักคิดทางนิติศาสตร์อิสลามสำนักหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในอัฟริกาเหนือและสเปน ฟัตวาของผู้นำศาสนาในสเปนต่างสนับสนุนการเข้ามาของมุรอบิฏูน ความนิยมในตัวยูซุฟเองบรรลุถึงจุดสูงสุดเมื่อเขาสามารถขับไล่กองทัพของอัลฟองโซและสร้างความเป็นเอกภาพให้กับมุสลิมสเปน แต่จุดจบของมุรอบิฏูนก็เป็นดังเช่นที่อิบนุ คอลดูนอธิบายไว้เช่นกัน ความรื่นเริงอยู่กับบรรยากาศของความศิวิไลซ์ในโมรอคโคและสเปน ทำให้ชนทะเลทรายกลุ่มนี้กลายเป็นคนเฉื่อนชา ความกระตือรือร้นของสายเลือดนักรบในอดีตจางหายไป และในที่สุดก็ต้องเสียอำนาจให้กับชนทะเลทรายกลุ่มใหม่ คือ พวกมุวะฮฺฮิดูน ในปี ค.ศ. 1145

ช่วงที่อำนาจของมุรอบิฏูนเสื่อมถอยลงนั้น บทบาทในการพิชิตสเปนคืนของฝ่ายรัฐคริสเตียนมิได้ผูกขาดอยู่กับรัฐแคชตีลอีกต่อไป หากแต่ยังมีอรากอนที่รวมกับนาวาร์เรียภายใต้การนำของอัลฟองโซที่ 1 (ค.ศ. 1104-34) ร่วมสมทบด้วย ตอนนั้นอะรากอนได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส เพราะนับตั้งแต่สภาแห่งเคลอมองต์ประกาศสงครามครูเสดเพื่อแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์ พวกเขาพบว่าพวกนอกรีตซึ่งพวกเขาหมายถึงมุสลิม ยังสามารถพบได้ที่สเปน ดังนั้นพวกครูเสดจำนวนมากจึงมุ่งมายังสเปนเพื่อภารกิจดังกล่าว
ชายแดนตอนเหนือสุดของมุสลิมสเปนขณะนั้นคือซาราโกซา ยูซุฟต้องการให้เมืองนี้เป็นรัฐกันชนกับพวกคริสเตียน เขาจึงไม่ได้ล้มล้างอำนาจของวงศ์ฮูดที่ปกครองเมืองนี้อยู่ ดังนั้นเมื่อมุรอบิฏูนอ่อนแอลง เมืองนี้จึงตกเป็นเป้าหมายการยึดครองของพวกครูเสด ในปี ค.ศ. 1118 ที่ประชุมแห่งตูลุส ประกาศให้การรบกับซาราโกซาเป็นสงครามครูเสด ทหารฝรั่งเศสในกองทัพของอัลฟองโซประกอบไปด้วยพวกที่กลับมาจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ขวัญกำลังใจและประสบการณ์ในการรบยังอยู่ในความทรงจำของพวกเขา พวกนี้ไปถึงซาราโกซาก่อนทหารของอัลฟองโซสียด้วยซ้ำ และล้อมเมืองนี้ตั้งแต่พฤษภาคมของปีนั้น และตีแตกในอีก 7 เดือนต่อมา ทูเดลา ทาราโซนาแตกในปี ค.ศ.1119 ตามด้วยคาลาตายูด (มาจากภาษาอาหรับ กอลอะห์ อัยยูบ) และดาโรกาในปี ค.ศ. 1120 อิมาดุดเดาละห์ ผู้นำวงศ์ฮูดที่หนีจากเมืองซาราโกซา หนีไปอยู่ที่รูเอดา ที่ซึ่งทายาทของเขา อัลมุซตันซิรบิลลาฮฺ ได้ปกครองต่อมา เขาอาศัยโอกาสที่มุสลิมสเปนแตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยอีกครั้งหลังมุรอบิฏูนล่มสลาย บุกเข้ายึดคอร์โดบา จาเอน เกรนาดา มุรเซียและวาเลนเซียเป็นของตน โดยความช่วยเหลือของแคชตีล แต่ท้ายที่สุด เขาถูกฆ่าตายในการรบกับคริสเตียนที่ชินชิลลา (อาหรับเรียก ญันญะละห์) เมื่อปี ค.ศ. 1146

สำหรับแคชตีล กษัตริย์อัลฟองโซที่ 7 (ค.ศ. 1136-1157) บุกเข้ายึดคอเรียในปี ค.ศ. 1142 และระหว่างที่เขากำลังล้อมคอร์โดบาอยู่นั้น ทูตของเจนัวได้เข้าพบเพื่อขอความช่วยเหลือในการโจมตีอัลเมอเรีย เมืองท่าที่ร่ำรวยที่สุดของมุสลิมสเปน เมืองดังกล่าวถูกยึดได้ในปีต่อมา และตกเป็นของคริสเตียนอยู่นาน 10 ปี
สำหรับชายแดนทางภาคตะวันตก ลิสบอน(อาหรับเรียก อัลอุชบูนะห์)ถูกตีแตกในปี ค.ศ. 1147 ทำให้ชายแดนของคริสเตียนจดแม่น้ำทากุส ต่อมามีการสถาปนาอาณาจักรโปรตุเกสขึ้น และรับช่วงในการพิชิตดินแดนของมุสลิมในบริเวณนี้ต่อไป

การเข้ามาของพวกมุวะฮฺฮิดูน
มุวะฮฺฮิดูนเริ่มต้นมาจากความเคลื่อนไหวทางศาสนาเช่นเดียวกับมุรอบิฏูน มีถิ่นกำเนิดจากเทือกเขาแอตลาสในโมรอคโคโดยชาวเบอร์เบอร์เผ่ามัศมูดะห์ ที่ชื่อมุฮัมมัด บิน ตูมัรต์ (มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1178-1130) การเคลื่อนไหวของมุฮัมมัดได้รับการสืบต่อโดยเพื่อนสนิทที่ชื่ออับดุลมุอฺมิน บิน อะลี ผู้ซึ่งประกาศตัวเป็นคอลีฟะห์และสถาปนาอาณาจักรมุวะฮฺฮิดูนขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1144-46 เขาเอาชนะกองทัพมุรอบิฏูนได้ที่เทลมซาน และเข้ายึดฟาส ซับตะห์ ฏอนญะห์และอัฆมัต และหลังจากปิดล้อมเมืองมะรอเกชอยู่นาน 11 เดือน เขาก็ตีเมืองได้ สถาปนาเป็นเมืองหลวง พร้อมกับยกเลิกการปกครองของมุรอบิฏูน

อับดุลมุอฺมินพิชิตอัลจีเรียในปี ค.ศ. 1152 เขาเริ่มการรณรงค์ในสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1145 และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1154 เขาใช้เวลาอยู่กับการทำสงครามกับโปรตุเกส แคชตีลและอะรากอน ข้าหลวงมุรอบิฏูนที่ปกครองเมืองเกรนาดาอยู่ยอมจำนน และล้อมอัลเมอเรียที่ตกเป็นของคริสเตียน และตีแตกในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1157
เขาหันไปทำสงครามในอัฟริกาเหนือ ยึดตูนิเซียในปี ค.ศ. 1158 และทริโปลีในปี ค.ศ. 1160 แต่ต่อมาอิบนุ มัรดานิช ผู้นำของรัฐมุรเซียไปร่วมมือกับรัฐคริสเตียนยึดเกรนาดาและคอร์โดบา เขาจึงต้องไปยังสเปนอีกครั้ง ชัยชนะที่สมรภูมิซาบีกะห์ ทำให้ยึดเกรนาดาได้อีกครั้ง หลังจากนั้นเขาได้ทุ่มเทกับการสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่เพื่อทำสงครามขั้นแตกหักกับพวกคริสเตียน แต่ล้มป่วยลงเสียก่อน และเสียชีวิตต่อมาที่ระบัดในปี ค.ศ. 1163

การรณรงค์ในสเปนดำเนินต่อมาในยุคสมัยของคอลีฟะห์อะบู ยะอฺกูบ ยูซุฟ ผู้เป็นทายาท (ค.ศ. 1163-1184) เอาชนะอิบนุ มัรดานิชและยึดมุรเซียได้ คอลีฟะห์ผู้นี้ แม้จะมาจากดินแดนธุรกันดารของเทือกเขาแอตลาสในโมรอคโค แต่ก็ได้รับการศึกษาจนเข้าใจภาษาอาหรับอย่างลึกซึ้ง เมืองเซวิลล์ที่เขาเลือกให้เป็นเมืองหลวงของมุวะฮฺฮิดูนในสเปน กลายมาเป็นศูนย์กลางความเจริญของมุสลิมสเปนยุคนั้น นักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงสองท่านก็มีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ คือ อิบนุ ฏุฟัยล์ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมทางปรัชญาชื่อ ฮัยย์ บิน ยักซอน อีกท่านหนึ่งคือ อิบนุ รุชด์ (อวิโรส) นักกฎหมายและนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของยุคกลาง

คอลีฟะห์อะบู ยะอฺกูบ ยูซุฟพยายามตีป้อมซานตาริมจากโปรตุเกส แต่ต้องถอยกลับมา เพราะทัพของลียองเข้ามาช่วยโปรตุเกสไว้ เขาเสียชีวิตขณะกำลังเดินทางกลับเซวิลล์ อัลมันศูร ผู้เป็นทายาท ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่โมรอคโค ประกาศตัวเองเป็นคอลีฟะห์(ค.ศ. 1184-99) ตอนนั้นกองทหารของอดีตผู้ว่าการมุรอบิฏูนจากเกาะมาจอร์กา (หนึ่งในสามเกาะใหญ่ของหมู่เกาะบาเลียริค) ได้บุกยึดเมืองบูกีย์ (Bougie) บนฝั่งอัฟริกาเหนือ คอลีฟะห์นำทหารจำนวนมากตีเมืองนี้คืนมาได้ แต่ในช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากนี้ โปรตุเกสรุกเข้ามายังดินแดนของของมุสลิม โปรตุเกสได้กษัตริย์ที่มีความสามารถชื่ออัลฟองโซ เอนริเควส ปี ค.ศ. 1189 ทัพของโปรตุเกสยึดซิลเวส ด้วยความช่วยเหลือของทัพเรือครูเสดที่กำลังจะเดินทางไปปาเลสไตน์ อัลมันศูรข้ามไปยังสเปนในปีต่อมา ตีทอร์เรส โนวาส ทางเหนือของซานตาริมแตก แต่ไม่สามารถยึดทมาร์ได้ เพราะเกิดโรคระบาดในกองทัพ ฤดูร้อนของปี 1191 ตีอัลคาเซอร์ โด ซาล(อาหรับเรียก อัลกอซรุ อะบูดานิซ) ทางใต้ของแม่น้ำทากุส พร้อมกับยึดซิลเวส ทำให้โปรตุเกสต้องขอทำสัญญาหยุดรบเป็นเวลา 4 ปี

ช่วงเวลานั้นเอง ทหารของอัลฟองโซที่ 8 แห่งแคชตีลบุกโจมตีเซวิลล์ อัลมันศูรต้องนำทหารออกไปต่อต้านด้วยตนเองและได้รับชัยชนะในการรบที่ประสาทอลาร์คอสในปี 1195 หลังจากนั้นอีก 2 ปี ทหารของเขารุกไปถึงโทเลโดและกัวดาลาจารา บังคับให้แคชตีลต้องยอมทำสัญญาสงบศึกเป็นเวลานาน 10 ปี คอลีฟะห์เดินทางกลับโมรอคโค ความที่เขาตรากตรำทำสงครามป้องกันชายแดนด้านสเปน ทำให้เขาล้มป่วยลงและเสียชีวตในปี 1199 อันนาศิร ลูกชายของเขาได้เป็นคอลีฟะห์แทน (ค.ศ. 1199-1214) นักประวัติศาสตร์อาหรับกล่าวยกย่องคอลีฟะห์อัลมันศูรว่าทำให้อำนาจของมุวะฮฺฮิดูนถึงจุดสูงสุด แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยของเขาส่อเค้าให้เห็นความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในสมัยของผู้เป็นทายาท การที่ต้องเปิดแนวรบทั้งสองด้านคือสเปนและอัฟริกา ยกทัพกลับไปกลับมา ทำให้ศัตรูมีเวลาตั้งตัวที่จะตอบโต้ ขณะเดียวกันพวกมะรีนิยะห์ในโมรอคโคก็ก่อตัวขึ้นท้าทายอำนาจของมุวะฮฺฮิดูน
อันนาศิรได้เป็นคอลีฟะห์ขณะมีอายุเพียง 17 ปี ทัพของมุวะฮฺฮิดูนโจมตีหมู่เกาะบาเลียริค ปราบกบฏอิบนุ ฆอนิยะห์ หลังจากนั้นก็หันกลับมาสเปน หลังจากสัญญาสงบศึกที่ทำไว้กับแคชตีลก็หมดอายุลง วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1212 ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันที่นาวาส เด โทโลซา หรือที่เรียกกันว่า สมรภูมิอัลอุกอบ (เนินเขา) 70 ไมล์ทางตะวันออกของคอร์โดบา กองทัพของคริสเตียนประกอบด้วยทหารของแคชตีล โปรตุเกส นาวาร์เรียและอะรากอน อัลฟองโซตัดสินใจข้ามเนินเขาที่เป็นแนวป้องกันค่ายทหารของฝ่ายมุวะฮฺฮิดูน โจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้เกิดความแตกตื่นขึ้นในค่ายทหาร จนคอลีฟะห์ต้องหลบหนีออกมา สงครามครั้งนั้นเขาสูญเสียทหารประมาณหนึ่งแสนคน บันทึกจากสมัยนั้นระบุว่าคอลีฟะห์รอดกลับมาพร้อมทหารเพียง 1,000 คน


รูปแสดงการรบที่สมรภูมินาวาส เด โทโลซา (Navas de Tolosa)

ความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิอัลอิกอบดูเหมือนจะดับหวังของมุสลิมสเปนที่จะสร้างความเป็นเอกภาพในการต่อสู้กับแนวรบของฝ่ายคริสเตียน อันนาศิรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในอีกสองปีต่อมาที่มะรอกิช สงครามกลางเมืองเพื่อแย่งอำนาจก่อตัวขึ้น อัลอาดีล ลูกชายของอันมันศูรก่อกบฏขึ้นที่มุรเซีย แต่ถูกฆ่าตายขณะเดินทางกลับโมรอคโคเพื่อแย่งชิงอำนาจจากทายาทของอันนาศิร ที่เซวิลล์ อัลมะมูน น้องชายของอัลอาดีลประกาศแยกตัวเป็นอิสระในปี ค.ศ. 1227 และยกทัพไปโมรอคโคเพื่อจะแย่งชิงอำนาจจากยะหยา ลูกชายของอันนาศิร เป็นการปิดฉากอำนาจของมุวะฮฺฮิดูนในสเปน เปิดโอกาสให้เกิดรัฐเล็กรัฐน้อยขึ้นมากมายอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1224 อับดุลลอฮฺ บิน มุฮัมมัด อัลบายาซี เหลนของอับดุลมุอฺมิน ประกาศตนเป็นอิสระที่บาเอซา (Baeza) เขาทำสัญญาสงบศึกกับเฟอร์ดินานที่ 3 ผู้นำคนต่อมาของแคชตีล โดยมอบเมืองมาร์ทอสและอันดุญาร์ ทำให้ชาวคอร์โดบาไม่พอใจและสังหารเขาในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1229 ทัพของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอะรากอนเข้ายึดเกาะมาจอร์กาที่ซึ่งอดีตขุนนางของมุรอบิฏูนปกครองอยู่ การรบครั้งนั้นอะรากอนได้รับความช่วยเหลือจากกองเรือของเจนัว หนึ่งหรือสองปีต่อมาอะรากอนเข้ายึดเกาะมินอร์กา ปี ค.ศ. 1235 ยึดเกาะอิบิซา และยึดวาเลนเซียได้ในปี ค.ศ. 1238

อิบนุ ฮูด ผู้ก่อกบฏต่อมุวะฮฺฮิดูนได้รับการยอมรับจากมุสลิมสเปนให้เป็นผู้นำในการต่อต้านคริสเตียน แต่หลังพ่ายแพ้ในการรบที่เมริดา มุฮัมมัด บิน ยูซุฟ ก็ผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งของเขา แคชตีลภายใต้การนำของเฟอร์ดินานที่ 3 ยึดทรุจิลโลและบังคับให้อิบนุ ฮูด จ่ายส่วย ปี ค.ศ. 1236 กองทัพแคชตีลบุกเข้าไปล้อมคอร์โดบา ซึ่งอิบนุ ฮูดยกทัพไปช่วย แต่ไม่ประสบผล ชาวเมืองจึงยอมจำนน สองปีต่อมาอิบนุ ฮูด ถูกสังหารที่อัลเมอเรีย
ที่มุรเซีย เกิดจลาจลโค่นล้มอำนาของอัลวาซิก ลูกชายของอิบนุ ฮูด ชาวเมืองตกลงยอมจ่ายส่วยแก่เฟอร์ดินาน แต่ต่อมากลับไปขอความช่วยเหลือจากเกรนาดา ซึ่งก็ไร้ผล เฟอร์ดินานจึงตัดสินใจยึดเมือง และปราบปรามชาวเมืองที่ปกหลักต่อต้านอยู่ หลังสนธิสัญญาอัลมิซราในปี ค.ศ. 1245 อะรากอนก็ยอมรับการผนวกมุรเซียของแคชตีล ถึงตอนนี้ เมืองใหญ่ของมุสลิมที่เหลืออยู่คือเซวิลล์และเกรนาดา ในปี ค.ศ. 1247 เฟอร์ดินานยึดคาร์โมนาได้ แล้วก็ถึงคราวของเซวิลล์ หลังจากที่ถูกล้อมอยู่นาน 17 เดือน ชาวเมืองก็ตัดสินใจยอมแพ้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1248 ด้วยความหลงใหลในความสวยงาม ทำให้เฟอร์ดินานตัดสินใจเลือกเซวิลล์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของแคชตีล
สำหรับโปรตุเกส การรุกรบหลังชัยชนะที่สมรภูมิอัลอุกอบ ดูเหมือนจะเป็นการขยายตัวครั้งสุดท้ายของรัฐนี้ อัลคาเซอร์ โด ซาล ถูกยึดไปในปี ค.ศ. 1217 เบจาในปี ค.ศ. 1232 และทาวิราในปี ค.ศ.1239 ในระหว่างสงครามยึดอัลคาเซอร์นั้น กองเรือของพวกครูเสดซึ่งกำลังเดินทางไปปาเลสไตน์ผ่านมาพอดีและได้เข้าร่วมในสงครามครั้งนั้นด้วย ทำให้พวกเขาไปถึงปาเลสไตน์ช้ากว่ากองทัพอื่นๆของยุโรปอยู่หลายเดือน แต่ก็ได้รับอภัยโทษจากโป๊ป ถึงตอนนี้ มีดินแดนเล็กๆตั้งแต่ซิลเวสและฟาโรที่ยังคงเป็นของมุสลิมอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมไอบีเรีย ปรากฏว่าผู้ปกครองอาหรับตัดสินใจยอมเป็นรัฐในอารักขาของแคชตีล ทำให้โปรตุเกสขุ่นเคืองและเกิดสงครามระหว่างกันขึ้นในปี ค.ศ. 1252 เมื่ออัลฟองโซที่ 10 ขึ้นเป็นกษัตริย์แคชตีลสืบต่อจากเฟอร์ดินานที่ 3 โป๊ปอินโนเซนต์ที่ 4 ก็เข้ามาไกล่เกลี่ย โดยให้กษัตริย์อัลฟองโซที่ 3 แห่งโปรตุเกสแต่งงานกับเบออาทริส ลูกสาวนอกสมรสของอัลฟองโซที่ 10 แห่งแคชตีล และในปี ค.ศ. 1263 แคชตีลก็มอบดินแดนดังกล่าวให้ลูกชายของอัลฟองโซแห่งโปรตเกสที่เกิดจากเบออาทริส การขยายตัวของโปรตุเกสก็สิ้นสุดลง



The Alcázar ในเมืองเซวิลล์ เดิมเป็นวังของมุวะฮฺฮิด ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1364 กษัตริย์เปโดรที่ 1 แห่งแคชตีล
สั่งให้สร้างขึ้นใหม่ โดยช่างฝีมือและจิตรกรจากเกรนาดา สะท้อนให้เห็นความสวยงามของศิลปะแบบมุเดจาร์


เบื้องหลังกำแพงของรูปขวาคือ Catedral de Santa María de la Sede เมืองเซวิลล์ สร้างขึ้นบนพื้นที่ที่เคย
เป็นมัสยิดประจำเมืองเซวิลล์ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยมุวะฮฺฮิดูน ส่วนของมัสยิดที่ยังหลงเหลืออยู่คือ หออะซานที่ถูกดัดแปลง
เป็นหอระฆัง Giralda (ขวา) ประตูทางเข้าและกำแพงที่เรียกว่า Puerto del Perdon (ซ้าย) และลานสวนส้ม

 

---------------------------------------------------------------------

เรื่องที่เกี่ยวข้อง