ช่วงทศวรรษที่ 1920 – 1930 มีบริษัทชาวอังกฤษได้รับสัมปทานให้เข้ามาสำรวจและต่อเรือขุดแร่ดีบุกในบริเวณหุบเขาที่เป็นแอ่งรูปกระทะของตำบลลำพะยา ตอนนั้นอยู่ในพื้นที่ของอำเภอสะเต็ง (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองยะลา

 ระยะแรกเป็นของบริษัท The Pattani Tin Ltd. จดทะเบียนที่ปีนัง แต่ในปี ค.ศ. 1926 ได้ขายกิจการให้แก่บริษัท the Pattani Consolidated Alluvial Tin Ltd. จดทะเบียนที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ครอบคลุมพื้นที่ทำเหมือง 1,195 เอเคอร์ แบ่งเป็นเหมืองบนที่เป็นเหมืองฉีด และเหมืองล่างเป็นเรือขุด เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีระบบฉีดน้ำด้วยเครื่องจักร จึงสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้บนเขาไกลจากบริเวณเหมืองประมาณ 4 ไมล์ ชาวบ้านเรียกว่า “นบหรั่ง” (ปัจจุบันคือเขื่อนลำพะยา) เพื่อให้น้ำที่แรงพอจะใช้ฉีดล้างแร่ได้ในพื้นที่ทั้งเหมืองบนและล่าง

tin1

เรือขุดแร่เหมืองลำพะยา ภาพจาก ยะลาเมื่อวันวาน 

ดีบุกจากที่นี่จะถูกขนโดยเกวียนผ่านถนนระยะทาง 9 ไมล์ ถึงสถานีรถไฟนาประดู่ เพื่อบรรทุกด้วยรถไฟถึงท่าเรือปีนัง (นาประดู่ - หาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ - บัตเตอร์เวิรธ) ระยะทาง 181 ไมล์

บริษัทของชาวอังกฤษเลิกกิจการในวันที่ 12 กรกฏคม ค.ศ. 1939 หลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในทวีปยุโรป ทำให้เหมืองแห่งนี้ต้องหยุดดำเนินการ คงเหลือเหมืองบนที่ดำเนินการต่อมาโดยบริษัทคนไทยจากจังหวัดภูเก็ต และเลิกดำเนินการไปเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา

tin2

"นบหรั่ง" ทำนบฝรั่งหรือเขื่อนลำพะยา เขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการฉีดแร่ในอดีต

บริเวณที่เคยเป็นเหมืองเรือขุด

ร่องรอยของบ้านชาวอังกฤษที่เหลืออยู่ในที่บ้านเหมืองบน รูปของคุณอภินันท์ คัญทะชา

ฮัจยีแวอุมัร หะยีอาแว ลูกเขยของท่านโต๊ะครูอับดุลอาซิซ ผู้ก่อตั้งปอเนาะอาซิซสถาน ได้ซื้อบ้านของชาวอังกฤษที่ลำพะยา รื้อแล้วมาประกอบสร้างบ้านหลังนี้ ในบริเวณปอเนาะอาซิซสถาน ปัจจุบันบ้านหลังนี้ก็รื้อออกแล้วเช่นกัน

รายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัท Pattani Alluvial Tin จาก The Straits Times, 21 April 1927 หน้า 13

ในอดีต ดีบุกจากลำพะยาถูกลำเลียงมาบรรทุกรถไฟที่นี่เพื่อลำเลียงไปยังท่าเรือปีนัง

สำหรับการขุดแร่ดีบุกในปาตานีนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณเช่นเดียวกับแร่ทองคำ นับแต่คริสตวรรษที่ 19 – ต้นคริสตวรรษที่ 20 แร่ดีบุกมีความสำคัญขึ้นมาแทนที่ทองคำที่มีปริมาณลดลง ทังนี้ หลังสังคมโลกปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคอุตสหากรรม มีความต้องการใช้ดีบุกมากขึ้นในการทำกระป๋อง เครื่องใช้ และอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ แหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญอยู่ในบริเวณแถบต้นน้ำปัตตานี สายบุรีและเปรัค เขตรอยต่อระหว่างรัฐปาตานี เปรัค และเคดะห์

ในปี ค.ศ. 1780 สุลต่านอิสกันดาร์ มูดอ แห่งเปรัค เคยส่งหนังสือไปยังสุลต่านมุฮัมมัด ให้การยอมรับสิทธิของปาตานีในพื้นที่เหมืองเหนือดินแดนต้นน้ำเปรัค แต่หลังจากปาตานีถูกสยามตีแตกในปี ค.ศ.1786 เปรัคได้ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว และหลังจากสยามแบ่งการปกครองปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง เหมืองบริเวณดังกล่าวอยู่ในเขตของเจ้าเมืองรามัน เกิดความขัดแย้งกับเปรัค จนเกิดการต่อสู้ระหว่างกัน 2 ครั้งในปี ค.ศ. 1842 ที่ Lapang Nenering และ ค.ศ. 1845 ที่ Kuala Dua รามันเป็นฝ่ายชนะ จนกระทั่งอังกฤษต้องเข้ามาเจรจากับสยามเพื่อแบ่งปันเขตแดน ความขัดแย้งเรื่องดินแดนกรณีรามัน-เปรัค และปัญหาการสัมปทานเหมืองแร่ ซึ่งจะชักนำให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซง น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทางกรุงเทพตัดสินใจยกเลิกระบบเจ้าเมืองมลายู และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบเทศาภิบาล โดยในระยะแรกให้รวมอยู่ในมลฑลนครศรีธรรมราช ก่อนจะแยกเป็นมลฑลปัตตานีในปี ค.ศ. 1906

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ฯ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติหุบเขาลำพะยาเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ครอบคลุมพื้นที่ที่เคยเป็นเหมืองแร่ดีบุก และบริเวณเขื่อน

อ่านเพิ่มเติม 
- Mala Rajo Sathian, Economic Change in the Pattani Region c. 1880 –1930: Tin and Cattle in the Era of Siam's Administrative Reform, National University of Singapore.