ตั้งแต่ดินแดนส่วนใหญ่ของสเปน ถูกรัฐคริสเตียนที่ประกอบด้วยแคชตีล อะรากอนและโปรตุเกสพิชิตไปในช่วงครึ่งแรกของคริสตวรรษที่ 13 ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ของสังคมต่างวัฒนธรรมต่างความเชื่ออันได้แก่มุสลิม คริสเตียนและยิว ซึ่งนักประวัติศาสตร์สเปนในปัจจุบันเรียกกันว่า convivencia ซึ่งแปลว่า “การอาศัยอยู่ร่วมกัน”

แม้จะเทียบไม่ได้กับพหุสังคมที่เกิดขึ้นในสมัยคอลีฟะห์วงศ์อุมัยยะห์แห่งคอร์โดบา แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการปรองดองระหว่างกันในระดับหนึ่ง ทั้งๆที่ต่างก็มีมุมมองที่เป็นปฏิปักษ์กันอย่างเห็นได้ชัด ดังจะเห็นได้จากบันทึกส่วนตัวของกษัตริย์เจมส์ที่ 1 แห่งอะรากอน ที่ระบุ “พวกมัวร์เป็นพวกทรยศหักหลัง และมักทำให้เราเข้าใจว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำดีต่อพวกเขา พวกเขากลับจะทำร้ายเรา” ในบันทึกของกษัตริย์ซานโจที่ 4 แห่งแคชตีล ที่ให้แก่ทายาทคือเฟอร์นานโดที่ 4 ระบุว่า “พวกมัวร์เป็นเพียงหมาตัวหนึ่ง.... อะไรก็ตามที่คริสเตียนเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย พวกเขากลับมองว่าดีและจะช่วยให้รอดพ้น ตรงกันข้าม สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นที่ช่วยให้รอดพ้น พวกเขาถือว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย” ทางฝ่ายมุสลิม ก็ต่อต้านนโยบายของผู้ปกครองคริสเตียนที่บังคับให้พวกเขาปฏิบัติพิธีกรรมบางอย่างของศาสนาคริสต์ คำฟัตวาในกลางคริสตวรรษที่ 15 ของอีซา ยาบีร ผู้นำศาสนาชาวเมืองเซโกเบีย ระบุชัดเจนว่า “ห้ามประพฤติ ปฏิบัติตามพิธีกรรมของคริสเตียนโดยเด็ดขาด” แต่กระนั้นก็ตาม การอยู่ร่วมกันที่เรียกว่า convivencia ก็สามารถดำรงอยู่ต่อมาจนถึงคริสตวรรษที่ 17 ยาวนานกว่าที่เคยเกิดขึ้นบนเกาะซิซิลี และรัฐครูเสดในปาเลสไตน์

เกิดอะไรขึ้นกับมุสลิมพื้นเมือง ตอนที่เมืองหรือหมู่บ้านของพวกเขาถูกคริสเตียนพิชิตได้ในช่วงคริสตวรรษที่ 12-13 ? กรณีที่รุนแรงที่สุดคือถูกสังหารหมู่ แต่ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ดังเช่นตอนที่กองทัพโปรตุเกสยึดซานตาริมในปี ค.ศ. 1147 ในตอนที่โปรตุเกสโจมตีลิสบอนปีเดียวกันนั้น พบว่าแม้แต่บาทหลวงคริสเตียนที่อยู่ในเมืองก็ถูกสังหาร ตอนที่อะรากอนยึดเกาะมินอร์กาในปี ค.ศ. 1287 ผู้มีอันจะกิน ซึ่งมีไม่มากนักสามารถจ่าค่าไถ่ที่สูงลิ่ว แลกกับการอพยพไปอัฟริกาเหนือ ชาวเกาะที่เหลือทั้งหมดถูกจับไปขายเป็นทาส

ในบางกรณี มุสลิมจะขับไล่ออกจากเมือง ดังกรณีของชาวเซวิลล์ มุสลิมจำนวนมากตัดสินใจอพยพไปยังดินแดนที่ยังเป็นของมุสลิมหรือไม่ก็อัฟริกาเหนือ แต่ก็มีมุสลิมจำนวนมากที่ไม่อพยพไปใหน ยอมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของคริสเตียนเรียกกันว่าพวกมุเดจาร์ (Mudejar) มาจากคำในภาษาอาหรับ mudajjan ปัจจุบัน คำว่า mudejar เป็นที่รู้จักกันในนามของสถาปัตยกรรมและประติมากรรมในรัฐคริสเตียนสเปนยุคกลาง ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นโดยสถาปนิกที่เป็นมุสลิม

พวกมุเดจาร์สามารถดำรงอยู่ในรัฐคริสเตียนเหล่านี้ได้ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกกันว่า fuero (ในโปรตุเกสเรียกกันว่า foral) ซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละเมืองแต่ละภูมิภาค ดังข้อตกลงที่กษัตริย์อัลฟองโซที่ 1 แห่งอะรากอนให้ไว้กับชาวเมืองทูเดลาในปี ค.ศ. 1119 เพื่อแลกกับการสละเมือง พวกมุเดจาร์จะได้รับอนุญาตให้เลือกผู้นำชุมชนของตนได้รับสิทธิและเสรีภาพที่จะปฏิบัติศาสนกิจของตน ได้รับการคุ้มครองในทรัพย์สิน อาชีพและการเดินทาง ข้อตกลงที่ปรากฏใน fuero ฉบับต่างๆ สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมของมุสลิมในยุคนั้นได้บ้าง แม้จะเป็นเพียงข้อตกลงที่พวกเขาอยากให้เป็น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็ตาม ใน fuero ที่ทำไว้กับชาวเมืองทูเดลา มีข้อตกลงหนึ่งที่ไม่ชัดเจนนัก แต่เข้าใจได้ว่าเป็นการเรียกร้องในกรณีที่พวกมุวะฮฺฮิดูนลงโทษคริสเตียนโมซาแรบ ชาวเมืองทูเดลาที่เป็นมุสลิมจะต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้คริสเตียนแก้แค้น ข้อเรียกร้องนี้ แสดงให้เห็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆตามชายแดนขณะนั้นเป็นอย่างดี

โดยทั่วไป พวกมุเดจาร์ไม่มีสิทธิในคณะบริหารของเมืองที่ตนอาศัยอยู่ ในบางเมือง เช่น มุรเซีย หลังถูกพิชิต กษัตริย์อัลฟองโซที่ 10 สั่งให้มุเดจาร์ทุกคนย้ายไปอยู่ชุมชนใหม่ย่านชานเมืองที่มีกำแพงแบ่งแยกพวกเขาจากชาวเมืองที่เป็นคริสเตียน และกรณีที่เกิดคดีความกับคริสเตียน พวกมุเดจาร์จะตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังที่ปรากฏใน fuero แห่งเซปัลเวดา ทำไว้เมื่อปี ค.ศ. 1076 ระบุหากเกิดคดีความระหว่างมุสลิมกับคริสเตียน ฝ่ายคริสเตียนจะฟ้องร้องได้ ต้องมีพยาน 3 คน เป็นมุสลิมทั้งสามคน คริสเตียนสองและมุสลิมหนึ่ง หรือคริสเตียนหนึ่งและมุสลิมสองคนก็ได้ แต่ถ้ามุสลิมจะฟ้องร้อง ต้องมีพยานเป็นคริสเตียนสามคน หรือคริสเตียนสองและมุสลิมหนึ่ง แต่จะไม่ยอมรับการฟ้องร้องที่มีพยานเป็นมุสลิมสองและคริสเตียนหนึ่ง กฎหมายหลายอย่างพยายามแยกชนต่างศาสนาออกจากกัน แม้แต่ที่อาบน้ำสาธารณะ คริสเตียนไม่อนุญาตให้จ้างมุสลิมหรือยิวไว้เลี้ยงดูลูก มัสยิดประจำเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางที่พวกมุเดจาร์จะรวมตัวกันจะถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์ ขณะที่มัสยิดเล็กๆโดยรอบได้รับอนุญาตให้คงอยู่ต่อไปได้ ในบันทึกของราชสำนักแคชตีล มีเหตุการณ์ที่มุสลิมหันมาเข้ารีตเป็นคริสเตียนเป็นจำนวนมากอยู่หลายครั้ง เช่นในปี ค.ศ. 1150 มีเหตุการณ์ประหลาดเล่าลือกันว่าคนหูหนวกและเป็นใบ้สามารถกลับมาได้ยินและพูดได้อีกครั้งหลังเข้าพบกษัตริย์อัลฟองโซที่ 7 และอาร์คบิชอบไรมุนโดในโบสถ์ประจำเมืองโทเลโด ทำให้มุสลิมและยิวจำนวนมากเกิดความศรัทธาเข้ารีตเป็นคริสเตียน

ไม่เฉพาะความเชื่อที่ได้รับแรงกดดัน ภาษาของพวกมุเดจาร์ก็ตกอยู่ในฐานะเดียวกัน ภาษาอาหรับค่อยๆสูญหายไป แม้จะมีคำศัพท์ในภาษาโปรตุกีส แคซติเลียนและแคตาลันจำนวนมากที่ทับศัพท์คำในภาษาอาหรับ ตอนที่อีซา ยาบีร จัดทำบทสรุปเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามประมาณปี ค.ศ.1450 เขาจัดพิมพ์เป็นภาษาแคชติเลียน เพราะมุเดจาร์ส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านภาษาอาหรับได้

เอกสารร่วมสมัยแสดงให้เห็นการกระจายตัวของพวกมุเดจาร์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่ามีอยู่อย่างหนาแน่นในภาคใต้ของสเปน และค่อยๆน้อยลงเมื่อขึ้นทางเหนือ แต่นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ในรัฐนาวาร์เรีย ซึ่งอยู่ตอนเหนือสุด ปรากฏว่ามีชุมชนขนาดใหญ่ของพวกมุเดจาร์คงอยู่ที่เมืองทูเดลา ในภูมิภาคที่อยู่ถัดมา คือดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของอะรากอน มีมุเดจาร์อยู่ประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดในคริสตวรรษที่ 13-14 แต่ทั้งหมดอยู่ในชนบทซึ่งต่อมาถูกชุมชนคริสเตียนกลืนหายไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับภาษาอาหรับ ในคาตาโลเนีย มีชุมชนเล็กๆของพวกมุเดจาร์เหลืออยู่นอกเมืองเลริดาและทอร์โทซา (อาหรับเรียก ฏอรฏูซะห์) ตรงกันข้ามกับภูมิภาควาเลนเซียซึ่งพึ่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอะรากอนในต้นคริสตสรรษที่ 13 มีชุมชนมุเดจาร์อยู่หนาแน่นในพื้นที่โดยรอบเมืองวาเลนเซีย ที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ ที่นี่เองที่ภาษาอาหรับดำรงอยู่จนถึงคริสตวรรษที่ 16 สำหรับในเมืองวาเลนเซียนั้นไม่มีชุมชนมุเดจาร์เหลืออยู่ เพราะมุสลิมทั้งหมดของเมืองถูกขับไล่ออกมาตอนที่เสียเมืองนั่นเอง

ภูมิภาคที่อยู่เหนือแม่น้ำดูโรขึ้นไป มีมุเดจาร์อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นทาส ในเมืองที่อยู่ระหว่างแม่น้ำดูโรและทากุส เช่น อะวิลา เซโกเบีย โทเลโดและทะลาเวร่า มีชุมชนมุเดจาร์ที่ไม่ใหญ่นัก แต่มีบทบาทสำคัญทีเดียว ในภูมิภาคระหว่างแม่น้ำทากุสกับกัวดัลคีวีร์ซึ่งมีประชากรอยู่เบาบาง มุเดจาร์ส่วนใหญ่ทำงานในฟาร์มขนาดใหญ่ แน่นอนว่าในภูมิภาคตอนใต้ของแม่น้ำกัวดัลคีวีร์ลงมา จะมีพวกมุเดจาร์อยู่หนาแน่นที่สุด เพราะเมืองสำคัญๆที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของมุสลิมสเปนอยู่ในบริเวณนี้นั่นเอง ส่วนหนึ่งที่ชุมชนเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ เพราะการสืบต่อและดำรงบทบาทสำคัญในงานอาชีพที่ต้องใช้ฝีมือและความชำนาญ ซึ่งทำให้ผู้ปกครองคริสเตียนพยายามโน้มน้าวให้พวเขาอยู่ต่อหรือแม้กระทั่งเข้ารีตเป็นคริสเตียน เช่นช่างผลิตกระดาษในเมืองจาติบา ช่างผลิตดินปืนในเมืองทูเดลา สถาปนิกและช่างฝีมือในงานก่อสร้างด้านต่างๆ ตัวอย่างของงานก่อสร้างที่สะท้อนถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมในแบบของมุเดจาร์ เช่น ประสาทโคคา ใกล้ๆเมดินา เดล แคมโป ของตระกูลขุนนางฟอนเซคา ในคริสตวรรษที่ 15 หอคอยประจำโบสถ์เมืองเทรูเอล พระราชวังอัลคาซาร์ในเซวิลล์ และโบสถ์ San Juan de los Reyes ในโทเลโด ฯลฯ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว มุสลิมพื้นเมืองได้รับการปฏิบัติจากคริสเตียนผู้พิชิตในลักษณะผสมผสานทั้งการประนีประนอมและการเป็นปฏิปักษ์แตกต่างกันไปตามภูมิภาคต่างๆของสเปนและขึ้นอยู่กับเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นตลอดคริสตวรรษที่ 12-13 การขยายตัวของรัฐคริสเตียนในช่วงเวลาดังกล่าว รวดเร็วเกินกว่าที่จะหาประชากรมาแทนที่มุสลิมที่ถูกพิชิต ความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ และแรงงาน ทำให้กษัตริย์คริสเตียนต้องดำเนินนโยบายที่ประนีประนอมในระดับหนึ่ง พร้อมๆกับการกระตุ้นให้คริสเตียนจากที่อื่นๆในยุโรปเดินทางเข้ามายังดินแดนที่ถูกพิชิตได้
ในตอนที่แคชตีล-อะรากอนพิชิตเกรนาดาเมื่อปี ค.ศ. 1492 นั้น ข้อเสนอจากฝ่ายคริสเตียนที่จะคุ้มครองสิทธิในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิม ก็สะท้อนให้เห็นการประนีประนอมในแบบดั้งเดิมที่เป็นมา โบอับดิลได้รับอนุญาตให้ตั้งอาณาจักรย่อยๆ ในแถบเทือกเขาทางใต้ของเกรนาดา เรียกกันว่า Alpujarras (มาจากภาษาอาหรับ al-Basharat) ปีต่อมา เขาตัดสินใจอพยพไปยังโมรอคโค ที่ซึ่งเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1532

ความพยายามในการเปลี่ยนให้ชาวเมืองเกรนาดาหันมาเข้ารีต ดำเนินการโดยผู้ว่าการเกรนาดาเองคือ คอนดิ เดอ เทนดิลลา และอาร์คบิชอบเฮอร์นานโด เดอ ทะลาเวร่า โดยเฉพาะเฮอร์นานโด นับว่ามีบทบาทสำคัญทีเดียว เขาพยายามใช้วิธีการชักชวนมากกว่ากดดัน ได้แปลคำสอนของคริสเตียนเป็นภาษาอาหรับ รวมถึงต่อต้านการตั้งศาลสอบสวนทางศาสนาในเกรนาดา
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนนั้น นโยบายของรัฐคริสเตียนไปไกลเกินกว่าที่จะประนีประนอมกับมุสลิมแล้ว เกรนาดาเป็นรัฐสุดท้ายของมุสลิมบนคาบสมุทรไอบีเรียที่ถูกพิชิตได้ และหลังจากยึดเกรนาดาได้ไม่กี่สัปดาห์ กษัตริย์คริสเตียนได้ออกคำสั่งให้ชาวยิวทั้งหมดอพยพออกจากสเปน สัญญาณที่บ่งบอกว่า “การอยู่ร่วมกัน” หรือ convivencia กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว ในปี ค.ศ. 1499 กษัตริย์สเปนเริ่มต้นบังคับให้ชาวเกรนาดาทั้งหมดเข้ารีตเป็นคริสเตียน ผู้มีบทบาทสำคัญที่ผลักดันเรื่องนี้ก็คือฟรานซิสโก ซิเมเนส เดอ ซิซเนโรส อาร์คบิชอบแห่งโทเลโด เมื่อถึงเดือนมกราคม 1500 ซิซเนโรสก็ประกาศว่าไม่มีผู้ใดในเกรนาดาที่ไม่ใช่คริสเตียน และมัสยิดทุกแห่ง ตอนนี้ก็คือโบสถ์นั่นเอง” การเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว เป็นผลให้เกิดการลุกฮือของมุสลิมขึ้นทั่วเกรนาดาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1499 แต่กบฏก็ถูกปราบปรามลงในช่วงปี 1500-1501 พวกกบฏได้รับข้อเสนอให้อพยพหรือไม่ก็ต้องยอมรับเข้ารีตเป็นคริสเตียน ไม่เฉพาะกบฏเท่านั้นที่ได้ต้องรับข้อเสนอดังกล่าว เพราะในปี ค.ศ. 1502 สเปนยื่นข้อเสนอดังกล่าวแก่มุสลิมทุกคนทั่วสเปน อย่างไรก็ตามมุสลิมจำนวนมากจำใจต้องเลือกการเข้ารีตเป็นคริสเตียน เพราะในเงื่อนไขที่จะอพยพออกจากสเปนได้นั้น พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายแก่รัฐเป็นจำนวนเงินที่สูงลิ่วหรือห้ามนำเด็กๆ ลูกหลานของเขาไปด้วย เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องเลือกข้อเสนอที่จะเข้ารีต แต่ยังคงปฏิบัติศาสนกิจและเป็นมุสลิมอย่างหลบๆซ่อนๆ นโยบายดังกล่าวนี้ถูกนำไปปฏิบัติทั่วรัฐแคชตีลของพระราชินีอิซซะเบล แต่สำหรับรัฐอะรากอนของกษัตริย์เฟอร์ดินาน (พระสวามีของอิซซะเบล) ยังต้องพึ่งพาแรงงานและช่างฝีมือของมุเดจาร์ค่อนข้างมาก ปฏิเสธที่จะดำเนินนโยบายดังกล่าว เช่นเดียวกับกษัตริย์ชาลส์ที่ 10 ผู้สืบตำแหน่งกษัตริย์แห่งอะรากอนต่อมา ก็ให้คำมั่นสัญญาในปี ค.ศ. 1518 ว่าจะไม่บังคับให้มุสลิมในรัฐอะรากอนต้องเลือกที่จะอพยพออกไปหรือเข้ารีตเป็นคริสเตียน แต่แล้วในปี ค.ศ. 1525 เขาได้กลับคำ นำนโยบายดังกล่าวมาใช้ในอะรากอน นับแต่นั้นมา ชาวสเปนทุกคนถือว่าเป็นคาทอลิก อย่างน้อยก็โดยทางการ

แน่นอนว่าในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น มุสลิมที่ไม่อาจจะอพยพไปได้ถือหลักที่เรียกว่า ตะกียยะห์ คือการปกปิดซ่อนเร้นศรัทธาที่แท้จริงของตน มีศัพท์ที่ชาวสเปนใช้เรียกพวกนี้ว่า พวกมอริสโค (Moriscos) พวกเขาปฏิบัติตามข้อบังคับของโบสถ์เท่าที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ประกอบพิธีกรรมของมุสลิมที่บ้าน นำลูกหลานที่เกิดใหม่ไปประกอบพิธีที่โบสถ์ แต่ก็กลับมาชำระล้างที่บ้าน แต่งงานตามพิธีกรรมของโบสถ์ และกลับมาจัดงานฉลองแต่งงานในแบบของมุสลิมขึ้นในชุมชนของตน ถึงแม้จะมีการจัดตั้งศาลศาสนาเพื่อไต่สวนศรัทธาที่อาจนำมาซึ่งการลงโทษอย่างรุนแรง แต่พวกมอริสโคก็ยังละหมาด ถือศิลอดอย่างลับๆ มีทั้งชื่อที่เป็นคริสเตียนและชื่อมุสลิม หลีกเลี่ยงไม่ทานหมูหรือไวน์ บ้านและการตกแต่งภายในบ้านก็แตกต่างจากพวกคริสเตียน ช่วงนี้เองที่มีบันทึกรวบรวมคำสอนของมุสลิมเป็นภาษาท้องถิ่นของสเปญ แต่เขียนด้วยตัวอักษรอาหรับที่เรียกว่า aljamiado เกิดขึ้น (มาจากภาษาอาหรับ al a’jamiyah แปลว่าภาษาของพวกต่างชาติ) นักประวัติศาสตร์พึ่งสนใจเกี่ยวกับ aljamiado ราวต้นคริสตวรรษที่ 19 มานี่เอง

moriscos bailando

การเต้นรำของพวกมอริสโค(ซ้าย) วาดโดยจิตรกรชาวเยอรมันที่เดินทางไปสเปนในปี 1529

แม้ทางการสเปนจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของชุมชนมอริสโก แต่ก็ไม่ค่อยแตะต้องมากนัก ทางโบสถ์เองพยายามใช้นโยบายกลมกลืนทางวัฒนธรรมมากกว่าการบังคับ แต่ประมาณทศวรรษปี 1550-60 ความตึงเครียดระหว่างทางการกับชุมชนมอริสโคเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อทางการสงสัยว่ามอริสโคอาจจะไปให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆต่อพวกเตอร์กออตโตมัน ศัตรูสำคัญของสเปน ทางการพยายามกดดันชุมชนมอริสโค มีการห้ามส่งออกผ้าไหมออกนอกสเปน ขึ้นภาษีผ้าไหมของเกรนาดา ที่เป็นอาชีพหลักของมอริสโค มีการตั้งศาลศาสนาเพื่อสอบสวนศรัทธาของพวกเจ้าของที่ดินในเกรนาดา ทำให้ที่ดินของพวกมอริสโคจำนวนมากถฏทางการยึดไป ในที่สุดก็เกิดจราจลของพวกมอริสโคขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1568-60 เรียกกันว่า การลุกฮือแห่งอัลปูจัรราสครั้งที่ 2 (ครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1499-50) มีผู้นำชื่ออะเบน ฮูเมยา (Aben Humeya) และอะเบน อะบู(Abén Aboo) แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยดอน จอนแห่งออสเตรีย แม่ทัพผู้เอาชนะเตอร์กในสมรภูมิเลปานโตเมื่อปี ค.ศ. 1571 กษัตริย์ฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนพยายามแก้ปัญหาของพวกมอริสโคด้วยการขับไล่พวกนี้ทั้งหมดออกจากเกรนาดา ประมาณกันว่ามีพวกมอริสโคประมาณ 100,00 – 150,000 อพยพกระจัดกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆของสเปน โดยเฉพาะในแคชตีล แม้จะป้องกันไม่ให้พวกนี้ได้มีโอกาสก่อกบฏขึ้นในเกรนาดาได้อีก แต่คราวนี้ ปัญหาชุมชนมอริสโคที่ไม่ยอมให้ชุมชนของตนถูกกลืนหายไป เกิดขึ้นทั่วสเปน


หนังสือที่เรียกกันว่า aljamiado อาจเป็นภาษาแคชติเลี่ยน หรือคาตะแลน ที่เขียนด้วยตัวอักษรอาหรับ

ด้วยคำแนะนำของดุกแห่งเลอร์มา กษัตริย์ฟิลลิปที่ 3 ตัดสินใจขับไล่พวกมอริสโคทั้งหมดออกจากสเปนระหว่างปี ค.ศ. 1609-14 นั่นคือ 9 ศตวรรษหลังจากที่อิสลามเข้าสู่สเปนโดยฏอริก ประมาณกันว่ามีมอริสโคที่ถูกขับออกจากสเปนกว่า 300,000 คน ทำให้บางภูมิภาคของสเปนแทบจะร้างผู้คน มีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของจักรวรรดินิยมสเปนในคริสตวรรษที่ 17 ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด คาร์ดินาล Rachelieu ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนที่สุดในบันทึกของประวัติศาสตร์มนุษย์ เป็นเรื่องที่โง่เขลาและเป็นการก่ออาชญากรรมโดยแท้
อัลมักกะรีย์ นักประวัติศาสตร์ผู้บันทึกประวัติศาตร์มุสลิมในอันดาลูเซียราว 20 ปีให้หลังการอพยพครั้งใหญ่คราวนั้น ระบุว่า “พวกมอริสโคบางกลุ่มได้เข้าไปเป็นทหารรับจ้างในกองทัพของสุลต่านแห่งโมรอคโค ซึ่งสุลต่านอนุญาตให้พวกเขาตั้งชุมชนขึ้นที่ sale (บนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค) ที่ซึ่งต่อมา พวกเขาได้สร้างกองเรือเพื่อต่อสู้กับศัตรูของพระเจ้า” เป็นที่มาของเรื่องราว โจรสลัด Sallee Rovers ที่เข้าไปก่อเหตุปล้นสะดมเมืองท่าต่างๆของยุโรปตั้งแต่แม่น้ำทากุสในโปรตุเกส จนถึงช่องแคบบริสตอลของอังกฤษ ในอีก 2 ศตวรรษต่อมา

การขับไล่พวกมอริสโค ไม่ได้ทำให้มุสลิมหมดไปจากสเปนโดยสิ้นเชิง ผลการสอบสวนของศาลศาสนา แสดงให้เห็นว่ายังมีพวกนี้อยู่ในสเปนตลอดคริสตวรรษที่ 17 กรณีสุดท้ายที่พบคือในปี ค.ศ. 1728

-------------------------------------------------------------

เรื่องที่เกี่ยวข้อง