ในสถานการณ์ที่โลกการประกอบอาชีพหยุดชะงัก กิจการต่างๆ ทั่วโลกระส่ำระสาย ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องหยุดกิจการอันเนื่องจากไวรัสโคโรน่า รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน หลายครอบครัวตกงาน ไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน ต้องนอนกลางถนน เพราะไร้บ้าน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน และความเดือดร้อนนานา

 

ในการนี้ อิสลามได้บัญญัติและส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยากในสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าวันนี้ ดังหลักการที่ปรากฏอยู่ในตำรามรดกทางวิชาการกฎหมายอิสลามมาตั้งแต่ในอดีตกาลพันปีก่อน
○ นอกจากจ่ายซะกาตแล้ว มุสลิมยังมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยทรัพย์อื่นๆ
อิหม่ามญาลาลุดดีน อัสสะยูตีย์ ( เกิด 3 ตุลาคม ค.ศ. 1445 เสียชีวิต 18 ตุลาคม ค.ศ. 1505 ที่กรุงไคโร อียิปต์) ปราชญ์ชั้นแนวหน้าในมัซฮับชาฟิอีย์ อันเป็นแนวทางหลักของมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย กล่าวไว้อย่างชัดเจน ในตำรา "อัลอัชบาห์ วันนะซออิร " ว่า การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์( หมายถึง สิ่งที่เป็นหน้าที่ร่วมกันและจำเป็นต้องกระทำโดยไม่เจาะจงผู้กระทำ หากไม่มีการกระทำ ทุกคนก็จะมีความผิดร่วมกัน) สำหรับผู้มีความสามารถ โดยได้กล่าวว่า
"ومنها‏:‏ إغاثة المستغيثين في النائبات ويختص بأهل القدرة‏"
[الأشباه والنظائر للإمام جلال الدين الشيوطي ؛ الكتاب الرابع في أحكام يكثر دورها ويقبح بالفقيه جهلها » ما يجوز تقديمه على الوقت وما لا » القول في فروض الكفاية وسننها جزء ١ صفحة ٤١٤ ]
"ส่วนหนึ่งของฟัรดูกิฟายะฮ์ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ และเป็นหน้าที่เฉพาะสำหรับผู้มีความสามารถเท่านั้น"
อันหมายความว่า ผู้ที่มีทรัพย์สิน นอกจากจะต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินบางประเภท ร้อยละ 2.5 ต่อปี แล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอีกด้วย แม้ว่าจะจ่ายซะกาตไปแล้ว ก็ยังไม่พ้นหน้าที่นี้ และไม่พ้นความผิดบาป
ในยุคที่ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วโลกในยามนี้ หน้าที่ก็ยิ่งหนักหนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
หน้าที่ช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนยามนี้ เป็นหน้าที่ระดับฟัรดู จึงจำเป็นต้องปฏิบัติก่อนภารกิจที่เป็นภารกิจระดับสุนัต/มุสตะหับ ไม่ว่าจะเป็นฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ก็ตาม มิพักต้องกล่าวถึงสิ่งที่เป็นมุบะห์ เช่น การท่องเที่ยวทัศนาจรหรือพักผ่อนหย่อนใจ
ใครจะไปรู้ ลึกๆแล้ว การที่อุมเราะฮ์หรือฮัจญ์ปีนี้ อาจต้องงดเว้น เพราะพิษไวรัสโคโรน่า ในแต่ละปีมีผู้ทำอุมเราะฮ์รอมาดอนหลายล้านคน หรือประกอบพิธีฮัจญ์สุนัตจำนวนมหาศาล อาจเป็นเพราะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์สุนัตหรืออุมเราะฮ์สุนัตเหล่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในจุดนั้นก็ได้ เพราะสังคมมุสลิมข้างบ้านหรือสังคมมุสลิมทั่วโลกยังเดือดร้อนแสนสาหัส หากถูกมองข้ามไป จะเป็นความผิดมหันต์ ที่อัลลอฮ์ไม่ประสงค์ให้คนเหล่านั้นไปยังวิหารของพระองค์อีก
ใครจะไปรู้ ลึกๆแล้ว กิจการต่างๆ ที่ระเนระนาดในขณะนี้ อาจเป็นเพราะการมองข้ามสิทธิของคนจนๆ หรือมองข้ามความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ก็เป็นได้
○ หลักการในอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และแนวปฏิบัติของซอฮาบะฮ์ จากตำราของอิบนุหัซม์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเมื่อพันปีก่อน
อิหม่ามอิบนุหัซม์ ( 7 พ.ย. ค.ศ. 994 – 15 ส.ค. ค.ศ. 1064) นักวิชาการแห่งแอนดาลุส ยุคอิสลาม ได้กล่าวในหนังสือ
المحلى بالآثار » كتاب الزكاة » قسم الصدقة » مسألة على الأغنياء من أهل كل بلد أن يقوموا بفقرائهم
ใจความว่า
"เป็นหน้าที่สำหรับคนร่ำรวยในที่ถิ่นแคว้น จะต้องช่วยเหลือคนยากจนในบริเวณนั้นๆ และรัฐจะต้องบัญญัติบังคับเช่นนั้น หากซะกาตไม่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่เอาจากทรัพย์คนมุสลิมทั่วไป
จะต้องให้อาหารที่จำเป็น และเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวและฤดูร้อน ต้องให้บ้านที่กันน้ำฝน ความร้อน แสงอาทิตย์และสายตาคน
หลักฐานกรณีดังกล่าวคือ
อัลลอฮ์กล่าวว่า
وَآتِ ذَا الْقُرْبَىٰ حَقَّهُ وَالْمِسْكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ
"และจงให้สิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด ผู้ขัดสน และผู้เดินทาง"
وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا وَبِذِي الْقُرْبَىٰ وَالْيَتَامَىٰ وَالْمَسَاكِينِ وَالْجَارِ ذِي الْقُرْبَىٰ وَالْجَارِ الْجُنُبِ وَالصَّاحِبِ بِالْجَنبِ وَابْنِ السَّبِيلِ وَمَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُمْ
" และจงทำดีต่อบุพการีทั้งสอง ต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด เด็กกำพร้า ผู้ขัดสน เพื่อนบ้านใกล้เคียงและเพื่อนที่ห่างไกล เพื่อนผู้เคียงข้าง ผู้เดินทาง และผู้ที่มือขวาของพวกท่านครอบครอง"
อัลลอฮ์บัญญัติถึงสิทธิของคนจน คนเดินทาง และทาส ตลอดจนสิทธิของญาติใกล้ชิด รวมถึงบัญญัติให้ทำดีต่อพ่อแม่ ญาติใกล้ชิด คนจน เพื่อนบ้าน และทาส การทำดีหมายถึงการกระทำดังกล่าว การไม่ช่วยถือว่าเป็นการทำไม่ดีโดยไม่มีข้อกังขาใดๆอีก
وقال تعالى : { ما سلككم في سقر قالوا لم نك من المصلين ولم نك نطعم المسكين } .
"อะไรที่นำพวกท่านเข้าสู่กองไฟที่เผาไหม้ พวกเขากล่าวว่า เรามิได้อยู่ในหมู่ผู้ทำละหมาด และเรามิได้ให้อาหารแก่บรรดาผู้ขัดสน"
ซึ่งอัลลอฮ์บัญญัติหน้าที่ละหมาดเคียงคู่หน้าที่ให้อาหารแก่คนยากจน
และท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า
من لا يرحم الناس لا يرحمه الله
"ผู้ใดไม่เมตตาต่อมนุษย์ อัลลอฮ์จะไม่เมตตาต่อเขา"
อับดุรรอฮ์มาน บินอบูบักร์ เล่าว่า "ชาวซุฟฟะฮ์ ( ผู้อาศัยชายคามัสยิดนบี ) เป็นคนจน ท่านศาสนทูต ศอลฯ จึงกล่าวว่า ผู้ใดมีอาหารสำหรับ 2 คน ก็จงพาคนที่ 3 ไป ผู้ใดมีอาหารสำหรับ 4 คน ก็จงพาคนที่ 5 ที่ 6 ไป"
المسلم أخو المسلم ، لا يظلمه ولا يسلمه
"มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม ไม่อนุญาตให้ละเมิดต่อเขา หรือปล่อยให้ถูกละเมิด"
การปล่อยให้อดอยาก ไร้อาภรณ์ ทั้งๆที่มีความสามารถที่จะให้อาหารเสื้อผ้าแก่เขาได้ ถือเป็นการปล่อยปละละเลยต่อเขา
อบูสะอีด อัลคุดรีย์เล่าว่า ท่านศาสนทูต ศอลฯ กล่าวว่า
من كان معه فضل ظهر فليعد به على من لا ظهر له ، ومن كان له فضل من زاد فليعد به على من لا زاد له
"ผู้ใดมีที่ว่างบนพาหนะก็จงให้แก่ผู้ที่ไม่มีพาหนะ
ผู้ใดมีเสบียงเหลือก็จงให้กับผู้ไม่มีเสบียง"
อบูสะอีด เล่าว่า "แล้วท่านศาสนทูตก็ได้กล่าวถึงทรัพย์สินประเภทต่างๆ จนกระทั่งเราเห็นว่า เราไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินที่เหลือใช้"
นี้เป็นอิจมาอ์-ความเห็นเอกฉันท์-ของซอฮาบะฮ์ ดังที่อบูสะอีดได้กล่าว ( หมายถึง คำพูดที่อบูสะอีดกล่าวว่า "เราเห็นว่า" )
เรามีความเห็นตามหะดีษเหล่านั้น
และท่านนบี ศอลฯ ยังกล่าวว่า
أطعموا الجائع وفكوا العاني
"และจงให้อาหารแก่คนหิวโหย และปลดปล่อยเชลย"
ตัวบทจากอัลกุรอานและหะดีษซอเหียะห์ในเรื่องนี้มีมากมายยิ่ง
ท่านอุมัร บินคอตตอบ กล่าวว่า "หากฉันรู้ตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นเช่นนี้ แน่นอน ฉันจะยึดเอาทรัพย์สินที่เหลือใช้ของบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย มาแจกจ่ายให้แก่ชาวมุฮาญีรีนผู้ยากจน"
ท่านอาลี บินอบูตอลิบ กล่าวว่า "อัลลอฮ์บัญญัติให้คนรวยช่วยคนจนในปริมาณที่เพียงพอต่อความจำเป็น หากคนจนไม่มีอาหาร หรือเสื้อผ้าอาภรณ์ ก็เนื่องจากคนรวยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศาสนากำหนด ซึ่งอัลลอฮ์จะสอบสวนและลงโทษคนรวยเหล่านั้นในวันฟื้นคืนชีพ"
อิบนุอุมัร กล่าวว่า "นอกจากซะกาตแล้ว ทรัพย์สินของท่านก็ยังคงมีพันธะหน้าที่"
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ท่านหะซัน บินอาลี หรืออิบนุอุมัร เมื่อมีผู้ขอทรัพย์สิน พวกเขาจะกล่าวกับผู้ขอว่า " หากท่านขอเพราะจะจ่ายหนี้เลือด หรือหนี้สินที่ล้นพ้นตัว หรือความจนแสนเข็ญ เราจำเป็นต้องให้แก่ท่าน"
มีรายงานว่า อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ และซอฮาบะฮ์ 300 ท่าน เกิดเหตุทำให้เสบียงของพวกเขาสูญเสียไป อบูอุบัยดะฮ์จึงสั่งให้ทุกคนนำเสบียงมารวมกัน แล้วให้ทุกคนรับประทานเสมอเหมือนกัน
นี้เป็นอิจมาอ์ของซอฮาบะฮ์ ที่ไม่มีผู้เห็นต่างแม้แต่คนเดียว"