เป็นจารึกของจาม ซึ่งพูดภาษามลายู-จาม จารึกด้วยตัวอักษรพรามี (Brāhmī scrip - ตัวอักษรต้นกำเนิดของอักษรในเอเชียตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ในสมัยของภัทรวรมันที่ 1 (Bhadravarman I) กษัตริย์จามปาในช่วงปลายคริสตวรรษที่ 4

 

ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1936 ที่ Đông Yên Châu จังหวัด Quảng Nam ประเทศเวียดนาม ในบริเวณใกล้ๆกับซากเมืองอินทราปุระ ศูนย์กลางของอาณาจักรจามปาโบราณ ข้อความสะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวจามสมัยนั้นว่าเป็นฮินดู

j1

j2

อาณาจักรจามปา ก่อตั้งโดยชาวจาม พูดภาษาจาม สาขาหนึ่งของภาษา Malayo-Polynesian เริ่มปรากฏในบริเวณชายฝั่งตอนกลางของเวียดนามปัจจุบันตั้งแต่ต้นคริสตกาล และเรืองอำนาจสูงสุดระหว่างคริสตวรรษที่ 9-10 หลังจากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมอำนาจลง จากการทำสงครามกับไดเวียต(เวียตนาม)ทางเหนือและและขอมทางตะวันออก ทั้งนี้นับแต่พวกญวนสามารถต่อสู้เพื่อเอกราชจากจีนได้ในปี ค.ศ. 907 และสถาปนาอาณาจักรได-โค-เวียด(อันหนำและตงเกี่ย=เวียดนามสมัยนั้น) ทั้งสองอาณาจักรก็อยู่ในฐานะคู่สงครามมาตลอด นับแต่คริสตวรรษที่ 11 จามปาค่อยๆสูญเสียแคว้นทางเหนือให้กับเวียดนาม จนประมาณปี ค.ศ. 1000 ก็ต้องทิ้งเมืองหลวงอินทราปุระ ย้ายราชธานีไปที่วิชัยซึ่งอยู่ทางใต้ กระนั้นก็ยังถูกโจมตีอีกหลายครั้ง จามปาต้องยอมเสียดินแดนเพิ่มเติมแลกกับสันติภาพที่ไม่ถาวรนัก ย่างเข้าคริสตวรรษที่ 12 จามปาต้องมาทำสงครามกับเขมร แม้กษัตริย์ Jaya Indravarman IV ของจามจะบุกไปถึงนครวัดได้ในปี ค.ศ. 1177 แต่กษัตริย์จามก็ถูกจับเป็นเชลยหลังจากขอมส่งกองทัพโต้กลับและบุกไปถึงวิชัย ราชธานีของจามปา

j3

อาณาจักรจาม (เขียว) เวียดนาม (เหลือง) และขอม (ฟ้า) ในคริสตวรรษที่ 10

หลังพ้นภัยจากการรุกรานของมองโกลช่วงครึ่งหลังของคริสตวรรษที่ 13 แล้ว จามปาก็ต้องมาทำสงครามกับเวียดนามอีกครั้ง กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่คนสุดท้ายของจามปาคือ Chế Bồng Nga หรือ Che Bunga (เจ๊ะบูงอ ค.ศ.1360-1390) นำกองทัพบุกไปถึง Thăng Long(ฮานอยปัจจุบัน) ราชธานีของเวียดนาม ถึงสองครั้ง แต่เขาก็เสียชีวิตระหว่างการรบทางทะเลในปี ค.ศ. 1390 สงครามระหว่างทั้งสองอาณาจักรดำเนินต่อมาเป็นระยะๆ ตลอด 80 ปีต่อมา แต่จามปาต้องประสบปัญหาสงครามกลางเมืองด้วย เวียดนามได้รับโอกาสที่หามิได้อีกแล้วในอันที่จะทำลายอำนาจของประเทศเพื่อนบ้านผู้ก่อความยุ่งยากอยู่เสมอ ในปี ค.ศ. 1469 เวียดนามส่งกองทัพทั้งทางเรือและบกกว่าสองแสนห้าหมื่นนาย หมายจะปราบจามปาให้ราบคาบ ก็สามารถพิชิตเมืองวิชัยได้ในปี ค.ศ. 1471 กล่าวกันว่าชาวจามไม่น้อยกว่า 60,000 คนเสียชีวิตในการรบ ในขณะที่เจ้าในราชวงศ์และเชลยรวม 30,000 คนถูกจับไป เวียดนามผนวกดินแดนส่วนใหญ่ของจามปาไว้ คงเหลือรัฐทางตอนใต้ที่เป็นอิสระ และมีกษัตริย์ปกครองอยู่ แต่ต้องส่งบรรณาการให้เวียดนาม มีศูนย์กลางอยู่ที่ปานฑุรังคะ

j4

ซากเมืองเก่าของจามปา

พัฒนาการสำคัญที่เกิดในช่วงนี้คือ กษัตริย์และประชาชนชาวจามจำนวนมากเข้ารับอิสลาม ความจริงอิสลามเข้าสู่จามปาตั้งแต่ก่อนคริสตวรรษที่ 10 แต่มีชาวจามเพียงส่วนน้อยที่เป็นมุสลิม ขณะที่กษัตริย์และประชาชนส่วนใหญ่นับถือฮินดู ในบันทึกของจีนระบุในปี ค.ศ. 951 มีทูตจากจามปาเข้าเฝ้าจักรพรรดิ์จีน ชื่อของทูตคือ Pu he san (Pak Hasan หรือ Abul Hasan) มีการค้นพบหินเหนือหลุมศพของชายที่ชื่อ Abu kamil ระบุว่าเสียชีวิตเมื่อ 19 เศาะฟัร ฮ.ศ. 432 (ค.ศ. 1039) ที่พันราง (ปานฑุรังคะ) จามปาอยู่เส้นทางเดินเรือจากอินเดีย –ช่องแคบมะละกา – ฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายู(ปาตานีและกลันตัน) – จามปา – จีน นักประวัติศาสตร์มาเลเซียท่านหนึ่งเคยเสนอว่าแรกเริ่มของอิสลามในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะมากจากจีน จากเส้นทางเดินเรือดังกล่าวด้วยซ้ำ มะละกากลายเป็นปลายทางของชาวจามจำนวนมากที่ลี้ภัยสงครามหลังรบแพ้เวียดนามในปี ค.ศ. 1471 หลายคนได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางในวังของสุลต่านมะละกา กระนั้นกว่าชาวจามส่วนใหญ่จะเข้ารับอิสลามก็เข้าช่วงปลายๆคริสตวรรษที่ 18 แล้ว กษัตริย์จามที่ชื่อ Po Rome (เป๊าะ รอแม ค.ศ. 1627–1651) พำนักที่กลันตันอยู่หลายปี มีชื่อนามสถานที่ที่แสดงร่องรอยการติดต่อระหว่างปาตานีและกลันตันกับจามปา เช่น Pengkalan Chepa และ Kampong Chepa กริซชนิดหนึ่งเรียกว่า กริซ Chepa ผ้าไหมและผ้า Chepa รวมทั้ง Hikayat Kelantan ระบุว่าบรรพบุรุษของสุลต่าน Long Yunus ผู้สถาปนารัฐกลันตันยุคใหม่ มาจากจามปา(Long Bahar ปู่ของ Long Yunus เป็นชาวปาตานี) ชุมชนชาวจามปรากฏที่มะละกาปลายคริสตวรรษที่ 15 และในปี ค.ศ. 1594 กษัตริย์จามส่งทหารเข้าร่วมกับสุลต่านแห่งยะโฮร์ทำสงครามกับโปรตุเกสที่มะละกา

j5

หินเหนือหลุมศพของชายที่ชื่อ Abu kamil ระบุว่าเสียชีวิตเมื่อ 19 เศาะฟัร ฮ.ศ. 432 (ค.ศ. 1039) ที่พันราง (ปานฑุรังคะ) จามปา ค้นพบโดย Paul Ravaisse เมื่อปี ค.ศ. 1922 เขียนด้วยตัวอักษรกูฟีย์ เหมือนกับที่ใช้เขียนในอาณาจักรอับบาซียะห์ บอกชื่อสกุลก่อนที่จะระบุว่า المعروف بأبي كامل สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าของสุสานเป็นชาวอาหรับ และช่างผู้แกะสลักก็มาจากอาณาจักรอับบาซียะห์
ภาพจาก http://www.persee.fr/doc/arch_0044-8613_2003_num_66_1_3785

 

j6

แสดงการขยายตัวของเวียดนาม ระบุปีที่ถูกเวียดนามผนวก

Po Saut (เป๊าะ ซาอุด ค.ศ. 1660–1692) ลูกของ Po Rome เป็นกษัตริย์คนสุดท้ายของรัฐจามปาที่เป็นอิสระ เวียดนามเข้ายึดปานฑุรังคะในปี ค.ศ. 1693 ตั้ง Po Saktirai da putih ในฐานะเจ้าเมืองประเทศราช ดำเนินโยบายกดดันจามปาทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากขึ้น ชาวญวนจำนวนมากอพยพเข้าไปในเขตของจามปา จนมีการลุกฮือก่อกบฏในช่วงปี ค.ศ. 1728, 1796 และ 1832-34 จนสุดท้ายในปี ค.ศ. 1835 เวียดนามก็ผนวกปานฑุรังคะเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามโดยสมบูรณ์ กษัตริย์จามปาคนสุดท้ายพร้อมประชาชนส่วนใหญ่หนีเข้าไปในกัมพูชา ปัจจุบันมีชาวจามไม่ถึงหนึ่งแสนคนในเวียดนาม ส่วนใหญ่ในจังหวัด Ninh Thuận และ Bình Thuận

j7

มุสลิมจามในกัมพูชา

อ่านเพิ่มเติม
- Philip Taylor , Cham Muslims of the Mekong Delta: Place and Mobility in the Cosmopolitan Periphery
- Graham Thurgood, From Ancient Cham to Modern Dialects: Two Thousand Years of Language Contact and Change
- Danny Wong Tze Ken, Vietnam-Champa Relations and the Malay-Islam Regional Network in the 17th–19th Centuries
- The Raja Praong Ritual: A Memory of the Sea in Cham- Malay Relations