เกิดขึ้นระหว่าง 15-20 สิงหาคม ค.ศ.636 ริมแม่น้ำยัรมูกในจอร์แดน ระหว่างกองทัพโรมันตะวันออก(ไบแซนไทน์)และกองทัพอาหรับของเคาะลีฟะห์รอชิดูนแห่งมะดีนะห์ ผลของสงครามเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในซีเรียและตะวันออกกลางไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

y7

สถานที่ที่เกิดสมรภูมิยัรมูก

- ภูมิหลัง
ดินแดนฝั่งตะวันออกและใต้ของเมดิเตอร์เรเนียน อันได้แก่ซีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ และอัฟริกาเหนือ อยู่ภายใต้ร่มเงาของโรมันนานกว่า 600 ปี ขณะที่ความวุ่นวายที่เกิดจากการรุกรานของพวกอานารยชนในยุโรป ทำให้โรมันตะวันตกค่อยๆดับสูญไปในคริสต์ศตวรรษที่ 5 จากชุมชนเมืองถดถอยกลายเป็นหมู่บ้าน สงครามและการอพยพทำให้ประชากรลดน้อยลง ตรงกันข้ามกับภูมิภาคชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กลับยังคงมีชีวิตชีวา เป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของโรมันตะวันออก(ไบแซนไทน์) 

คู่แข่งสำคัญของไบแซนไทน์คือจักรวรรดิ์แซสซานิดแห่งเปอร์เซียทางตะวันออก ทั้งสองมีรัฐของชาวอาหรับเป็นเขตกันชน อันได้แก่ฆอซซานิดแห่งซีเรีย พันธมิตรของไบแซนไทน์ และลัคมิดแห่งอิรัค พันธมิตรของเปอร์เซีย ในปี ค.ศ. 611 เปอร์เซียบุกซีเรีย มีชัยเหนือไบแซนไทน์หลายครั้ง ยึดเยรูซาเลมได้ในปี 614 บุกไปถึงชายฝั่งบอสฟอรัส ฝั่งตรงข้ามคอนสแตนติโนเปิลในปีต่อมา และยึดอียิปต์ได้ในปี ค.ศ. 619 จักรพรรดิไบแซนไทน์คนใหม่ เฮราคลีอุสได้ตีโอบหลังเปอร์เซีย โดยยกทัพอ้อมข้ามทะเลดำ ยึดอาร์เมเนีย และอิรัคตอนเหนือ ไปจ่อที่เมืองหลวงของจักรวรรดิ์แซสซานิดในปี 628 บังคับให้เปอร์เซียยอมสงบศึกและยินยอมถอนกำลังจากดินแดนทั้งหมดที่ยึดไป 

y4

ทหารไบแซนไทน์

ในช่วงที่ทั้งสองกำลังทำสงครามอยู่นั้น เกิดการเปลียนแปลงครั้งสำคัญในคาบสมุทรอราเบีย เมื่อมุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ประกาศอิสลามและสถาปนารัฐขึ้นที่มะดีนะห์ สามารถรวบรวมคาบสมุทรอาหรับเป็นหนึ่งเดียวขึ้นเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าทูตของมุฮัมมัดที่ส่งไปยังเจ้าชายอาหรับแห่งฆอซซานิดในจอร์แดนถูกฆ่า จึงส่งทหาร 3,000 คน ไปยังมุอฺตะห์ในปี ค.ศ. 629 แต่อาหรับต้องแพ้กลับไปอย่างสะบักสะบอมเมื่อเผชิญกับกำลังร่วมทหารโรมันและอาหรับฆอสซานิด ช่วงนั้นไบแซนไทน์เพิ่งจะฟื้นฟูอำนาจของตนหลังเปอร์เซียถอนออกไป

หลังศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)เสียชีวิตในปี ค.ศ. 632 อะบูบักร์ได้เป็นเคาะลีฟะห์(กาหลิบ ค.ศ. 632-634) ทัพของอาหรับต้องเผชิญสงครามในซีเรียและอิรัคในคราวเดียวกัน ในซีเรีย ปาเลสไตน์และจอร์แดนนั้น อาหรับมีชัยหลายครั้ง ทหารโรมันถอยร่นขึ้นไปทางเหนือ และก่อนที่อะบูบักร์จะเสียชีวิต เขาได้สั่งให้คอลิด บิน อัลวะลีด ซึ่งกำลังรบกับเปอร์เซียในอิรัค ไปช่วยเสริมการรบในซีเรีย ดามัสกัสยอมแพ้แก่ทัพอาหรับในเดือนกันยายน ค.ศ.635 ตามด้วยเมืองฮิมส์(Emesa) ฮามาและเมืองอื่นๆ 

y2

การพิชิตซีเรียและปาเลสไตน์ของมุสลิม

จักรพรรดิเฮราคลิอุสซึ่งเคยเรียกกองทัพอาหรับว่าเป็นเพียงกลุ่ม “ตัวตั๊กแตน” ที่ทำได้เพียงก่อความรำคาญด้วยการปล้นสะดมตามชายแดนเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เขาสั่งระดมพลครั้งใหญ่เพื่อเผด็จศึกขั้นเด็ดขาด คอลิดสั่งให้ทหารอาหรับถอนตัวออกจากเมืองที่ยึดได้ทีละเมือง เพื่อไปรวมกัน ณ ที่ราบบริเวณหุบเขาริมแม่น้ำยัรมูก (รอยต่อชายแดนจอร์แดน อิสราเอลและซีเรียปัจจุบัน) ทั้งสองฝ่ายมาเผชิญหน้ากันในช่วงวันอากาศร้อน ปกคลุมด้วยฝุ่นอันเกิดจากลมผัดฝุ่นผงกระจาย ณ จุดที่ร้อนที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นสถานที่และช่วงเวลาที่ถูกเลือกโดยคอลิด แม่ทัพของฝ่ายอาหรับ 

- การสู้รบ 

 

y3

ทัพไบแซนไทน์ราว 50,000 คน ภายใต้การบัญชาการรบของวาฮาน เจ้าชายแห่งอาร์เมเนีย มีธีโอโดรุส น้องชายของจักรพรรดิ์เป็นแม่ทัพร่วม และมีทหารอาหรับคริสเตียนฆอสซานิดร่วมรบด้วย ขณะที่ฝ่ายกองทัพอาหรับมีอยู่ราว 25,000 คน ภายใต้การบัญชาการรบของคอลิด บิน อัลวะลีด ทั้งสองฝ่ายแบ่งกำลังทหารเป็นทัพปีกซ้ายขวาและกลางซ้ายขวา มีกองทหารม้าเป็นกำลังเสริม ในการปะทะสองสามวันแรก ไบแซนไทน์จัดทัพพลเดินเท้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยให้ทหารยืนไหล่ต่อกัน (phalanx formation) สลับเข้าตีปีกซ้ายและขวา เพื่อจะโอบล้อมทัพกลาง จนฝ่ายอาหรับถอยร่นหลายครั้ง แต่คอลิดอาศัยกองทหารม้าเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีความคล่องตัวเข้าไปเสริมจุดที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำได้ตลอด ทำให้ทหารไบแซนไทน์ที่มีจำนวนมากกว่าเริ่มจะเสียขวัญและยื่นข้อเสนอขอเจรจา คอลิดปฏิเสธและส่งกำลังทหารปิดกั้นทางหนีของทหารไบแซนไทน์ และในวันสุดท้ายของการรบเขาสั่งให้แปรขบวนทหารม้าทั้งหมดเป็นขบวนใหญ่เข้าตีไบแซนไทน์จากด้านข้างและด้านหลังของปีกซ้าย แตกพ่ายลงทีละทัพๆ ทหารไบแซนไทน์ที่แตกทัพถูกผลักดันให้ล่าถอยไปยังริมหน้าผาที่ลึกชัน มีส่วนน้อยที่ข้ามแม่น้ำได้ แต่ก็ไปถูกสังหารที่อีกฝั่งหนึ่ง ไบแซนไทน์เสียกำลังทหารเกือบครึ่งหนึ่งในสมรภูมิแห่งนี้ รวมถึงวาฮาน ธีโอโดรุส เกรกอรัสและแม่ทัพกรีกอีกหลายคนถูกสังหารระหว่างหลบหนี 


-หลังสงคราม
สงครามครั้งนี้พิสูจน์ถึงความสามารถของแม่ทัพคอลิด บิน อัลวาลิด จากผลของสงคราม ทำให้ซีเรีย จอร์แดนและปาเลสไตน์ตกอยู่ใต้อำนาจของอาหรับ จักรพรรดิ์เฮราคลีอุสหนีออกจากซีเรียพร้อมคำอำลา “ลาก่อนซีเรีย ดินแดนอันแสนวิเศษสู่เงื้อมมือศัตรู” 

กองทัพอาหรับทยอยยึดอเลปโป แอนติออค และเมืองอื่นๆในซีเรียเกือบหมดสิ้น ส่วนเยรูซาเลม ซีซาเรียและเมืองท่าชายฝั่งเลบานอนที่มีความเป็นกรีกอยู่มาก ต้านทานไว้ได้นานพอสมควร เยรูซาเลมยอมแพ้ในปี ค.ศ. 638 กาหลิบอุมัร (ค.ศ.634-644) เดินทางไปรับมอบกุญแจเมืองด้วยตนเอง ซีซาเรียและกาซ่าต้านไว้อยู่นานถึง ค.ศ. 641 จึงแตกหลังจากที่ชาวยิวในเมืองแอบบอกทางเข้าตามเส้นทางระบายน้ำ กาซ่าเป็นประตูสำหรับการพิชิตอียิปต์ในระยะต่อไป 

จากจุดนี้ อาหรับเริ่มสัมผัสกับอารยธรรมโบราณของกรีกและโรมันที่ฝังรากอยู่ในภูมิภาคเหล่านั้น ผ่านอาหรับคริสเตียนและยิว วิทยาการที่เคยดับสูญในดินแดนเหล่านี้ค่อยๆถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ จุดเริ่มต้นยุคแห่งการแปลขึ้นในโลกอาหรับในอีกศตวรรษถัดมา