“หากฝ่ายอาหรับมีชัยในสงครามนี้ ก็คงได้เห็นมัสยิดตั้งตระหง่านในลอนดอนและปารีสแทนที่จะเป็นมหาวิหารอย่างทุกวันนี้ และเสียงท่องจำอัลกุรอานก็คงมาแทนที่พระคัมภีร์ไบเบิลในออกซฟอร์ดและสถาบันศึกษาชั้นนำอื่นๆของยุโรปเป็นแน่”
 
Edward Gibbon นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ (ค.ศ. 1737-1794)
h11
 
สมรภูมินี้เกิดขึ้นหลังกองทัพของเคาะลีฟะห์(กาหลิบ)ราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสยึดแหลมไอบีเรียจากพวกวิซิกอธได้ในช่วงปี ค.ศ.712-720 ก็ข้ามเทือกเขาพีเรเนส์เพื่อบุกภาคใต้ของฝรั่งเศส โดยในปี 720 หลังจากยึดเมืองนาร์บอนน์ได้ และปรับเปลี่ยนให้เป็นป้อมเมืองที่แข็งแกร่งมั่นคง กองทัพอาหรับก็พยายามจะตีเมืองตูลุสที่มียูเดสหรือโอโด ดยุคแห่งอะกีเตน (Eudes or Odo Duke of Aquitaine) ปกครองอยู่ แต่ล้มเหลว นี่เป็นครั้งแรกที่เจ้าฝ่ายเยอรมันมีชัยเหนือมุสลิม
 

 

การยาตราทัพขึ้นเหนือครั้งใหญ่ที่สุดและเป็นครั้งสุดท้ายนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 732 ภายใต้การนำของอับดุลเราะห์มาน อัลฆอฟิกีย์ ในฐานะอะมีรแห่งสเปน เขามีชัยต่อยูเดสในการรบที่ริมฝั่งแม่น้ำการอนน์ ยึดบอร์โดซ์ได้ เขารุกต่อขึ้นไปทางเหนือ มุ่งสู่เมืองตูรส์ที่ถือเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของพวกกอล เพราะเป็นที่ฝังร่างของนักบุญเซนต์มาร์ติน ยูเดสได้ร้องขอความช่วยเหลือจากชาร์ลล์ มาร์แตล(Charles Martel) ผู้นำของพวกแฟรงก์

ณ ที่ระหว่างเมืองตูรส์กับปัวติเยร์ อับดุลเราะห์มานได้เผชิญกับทัพของชาร์ลล์ มาร์แตล ที่ส่วนใหญ่เป็นพลเดินเท้านุ่งห่มด้วยหนังหมาป่า ผมยาวรุงรังประบ่า จัดทัพเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกลางเป็นที่ว่าง (phalanx formation) ยืนไหล่ต่อกัน มีความมั่นคงเหมือนกำแพงและแกร่งเหมือนผลึกน้ำแข็ง ทำให้กองทหารม้าเคลื่อนที่เร็วที่มีชื่อเสียงของอาหรับ แทบจะไร้ประสิทธิภาพในการรบไปเลย และที่สำคัญชาร์ลล์ มาร์แตลเลือกตั้งทัพบนเนินเขาที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ทำให้ฝ่ายอาหรับไม่อาจคาดคะเนจำนวนที่แท้จริงของพวกแฟรงก์ได้ แม้อับดุลเราะห์มานจะเป็นนายทหารที่มีความสามารถ แต่เขาชะล่าใจไม่คิดว่าชาร์ลล์ มาร์แตลจะหันมาร่วมมือกับยูเดส และพลาดไปที่ปล่อยให้พวกแฟรงก์เป็นผู้เลือกชัยภูมิที่ได้เปรียบ

h12
ทหารอาหรับและเบอร์เบอร์สู้ปะทะกับทหารแฟรงก์
 
เป็นเวลา 7 วัน ที่กองทหารของพวกอาหรับและแฟรงก์ได้เผชิญหน้ากัน และเป็นเวลา 3 วันที่กองทหารแฟรงก์ยืนหยัดต้านทานการโจมตีระลอกแล้วระลอกเล่าของกองทหารม้าอาหรับ แต่อาหรับก็ไม่สามารถเจาะแนวรบของพวกแฟรงก์ได้ ซ้ำยังโดนทหารแฟรงก์ใช้ดาบฟาดฟันสกัดการโจมตี สร้างความเสียหายพอสมควร ในการโจมตีในเวลาใกล้ค่ำของวันเสาร์เดือนตุลาคม ค.ศ. 732 อับดุลเราะห์มานได้รับบาดเจ็บถึงชีวิตในสนามรบ ความมืดได้เข้ามาแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกัน ในที่สุด เมื่อไร้ผู้นำทัพ ค่ำวันนั้นกองทัพอาหรับได้ถอยกลับหมด ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ตะวันตกหลายท่าน เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลก

สำหรับฝ่ายอาหรับแล้ว กล่าวถึงเหตุการณ์นี้แต่เพียงเล็กน้อย เรียกสงครามครั้งนี้ว่า “บะลาต อัชชุฮะดาอฺ” (เส้นทางของผู้พลีชีพ) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาครบหนึ่งศตวรรษนับแต่การเสียชีวิตของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) จักรวรรดิอาหรับราชวงศ์อุมัยยะห์แห่งดามัสกัสที่แผ่อำนาจนับแต่ชายแดนจีนในเอเซียกลางจนถึงสเปนได้มาถึงจุดอิ่มตัว และเริ่มมีปัญหาอันเกิดจากความขัดแย้งภายใน ต่อให้ชนะในสมรภูมินี้ ก็คงขยายตัวไปได้ไม่ไกลกว่านี้มากนัก พวกอาหรับสูญเสียนาร์บอนน์ที่มั่นสุดท้ายในฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 759 และในอีกครึ่งศตวรรษต่อมา ชาร์เลอมาญ หลานของชาร์ลล์ มาร์แตลได้พิชิตบาร์เซโลนา ทำให้ภูมิภาคคาตาลุนญามีความมาเป็นทางประวัติศาสตร์ต่างหากจากส่วนอื่นๆของสเปนซึ่งยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมอีกหลายร้อยปีต่อมา
 
แผนที่แสดงการรุกรบของฝ่ายอาหรับและบริเวณที่เกิดสงครามตูรส์
สิ่งที่น่าสนใจในสงครามครั้งนี้ ฝ่ายแฟรงก์ได้รับชัยชนะโดยไม่มีกองทหารม้า ยุโรปยุคนั้น ยังไม่รู้จักโกลนเหล็กสำหรับเท้าเหยียบเวลาขี่ม้า ทำให้ขาดกองทหารม้าขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับฝ่ายอาหรับ แต่สภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาของเทือกเขาพีเรเนส์ ก็ทำให้กองทหารม้าอาหรับรุกรบได้ไม่ถนัด.......... นักประวัติศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าสงครามครั้งนี้ช่วยวางรากฐานของราชวงศ์การอแล็งเฌียง(Carolingiens) และอิทธิพลของพวกแฟรงค์ในยุโรป อันเป็นการกำหนดอนาคตของทวีปนี้ต่อมาอีกหลายร้อยปี
 
ลิงก์ที่น่าสนใจ การสำรวจบริเวณที่เคยเป็นสมรภูมิการรบ https://firedirectioncenter.blogspot.com/2013/10/battles-long-ago-moussais-la-bataille.html